สังคม

กฎหมายแรงงานใหม่ หนุน WFH ให้สิทธิไม่ตอบหลังเวลาเลิกงาน มีผล 18 เม.ย.นี้

โดย nicharee_m

25 มี.ค. 2566

573 views

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หนุน Work From Home เปิดทางนายจ้าง-ลูกจ้าง ตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน ให้ชัดเจน พร้อมให้สิทธิ์ลูกจ้างไม่ตอบหลังเลิกงานได้ มีผลตั้งแต่ 18 เม.ย.นี้


เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่รูปแบบการทำงานในองค์กรธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือเวิร์กฟรอมโฮม (Work From Home) หรือจากสถานที่อื่นๆ ซึ่งอยู่นอกสถานประกอบการของนายจ้างมากขึ้น


ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งเพิ่มเติมบทบัญญัติที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ได้ความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงด้วย โดยได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ หรือ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป


รองโฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ได้เพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 ซึ่งมีสาระสำคัญให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้ สำหรับการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น อาจตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน


“กฎหมายยังกำหนดด้วยว่า เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่มีการตกลงกันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิ์ปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใดๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน”


อย่างไรก็ตาม เมื่อมีบทกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ มีสิทธิ์และอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานต่างๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้างด้วย


อ่าน : พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่



คุณอาจสนใจ

Related News