สังคม

สรุปครบ "ดารุมะ" ตั้งใจเป็น "แชร์ลูกโซ่" หรือแค่ "หมุนเงินไม่ทัน"

โดย panisa_p

22 มิ.ย. 2565

338 views

ดรามาขายเวาเชอร์ “ดารุมะ” ซูชิ จนมาสู่ปฏิบัติการฉ้อโกงที่เจ้าของต้องหนีข้ามโลก แต่จู่ ๆ ก็กลับมา ทำให้หลายคนยังคงสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น  เรามาย้อนดูทีละขั้นเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เรื่องนี้เป็น “แชร์ลูกโซ่” หรือ “ขาดสภาพคล่อง”ตามที่รับสารภาพ


มาดูกันหน่อย ว่ามี ‘อะไร’ เกิดขึ้น


วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ (Buffet Lovers)’ ได้มีผู้โพสต์ข้อความตั้งคำถาม หลังร้าน ‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในห้างดังต่าง ๆ ได้ปิดปรับปรุงแบบไม่มีกำหนด อีกทั้ง ร้านยังได้มีการเก็บข้าวของบางส่วน และไม่สามารถติดต่อได้ จนทำให้หลายคนสงสัยว่าจะซ้ำรอยคดี ‘แหลมเกต’ หรือไม่


สมาชิกในกลุ่ม ที่เตรียมตัวจะไปใช้บริการที่ร้าน ก็มาโพสต์แจ้งว่าร้านปิดจริง ๆ พร้อมทั้งถ่ายภาพสภาพร้านล่าสุดมาลงในกลุ่ม


ย้อนกลับไปก่อนหน้าวันที่ 17 มิ.ย. ทางร้าน ‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) ได้จำหน่ายเวาเชอร์ (Voucher) ในราคาใบละ 199 บาท (ไม่รวมภาษี) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมาก เพราะราคาปกติของทางร้านนั้นอยู่ที่ 299+ บาท


ต่อมา สมาชิกในกลุ่มรายหนึ่ง บอกว่าเป็น ‘ผู้จัดการสาขา’ ของร้าน ได้ยืนยันว่าพนักงานร้าน - เจ้าของแฟรนไชส์ ไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ จู่ ๆ เจ้าของบริษัทดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่มทั้งหมด ติดต่อไม่ได้ ทุกคนเพิ่งทราบเรื่องในเช้าวันที่ 17 มิ.ย. 65


ทางกลุ่มผู้จัดการไม่มีใครติดต่อเจ้าของได้ จึงปรึกษากันว่า จะบอกว่า ‘ปิดให้บริการ 1 วัน’ เพราะยังมีความหวังว่าจะติดต่อเจ้าของบริษัทได้ จากนั้นเรื่องนี้ก็กลายเป็นข่าวที่หลายคนสนใจมาตลอด ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท


ด้านเจ้าของกิจการ ได้ออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เวลาประมาณ 23.00 น. โดยปลายทาง คือเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ยังไม่มีใครทราบว่าเจ้าของกิจการอยู่ที่ไหน


มาทำความรู้จักร้าน ‘ดารูมะ’ กัน


ร้าน ‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) เปิดกิจการภายใต้ บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 โดยมีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และเป็นร้านบุฟเฟต์แซลมอน ที่ราคาเข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่ 299+ เมื่อเทียบกับคุณภาพนั้น สำหรับราคาแค่นี้ถือว่าไม่แพงเลย แถมยังถือว่าคุ้มค่าสำหรับผู้ทานด้วยซ้ำไป


จึงทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงจากการบอกต่อแบบปากต่อปาก และอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารที่ทำการรีวิว โดยทางร้านนั้นมีทั้งตัวเจ้าของกิจการที่เป็นเจ้าของร้านเอง รวมถึงขายแฟรนไชส์ด้วย ซึ่งจาก 27 สาขานั้น มีเพียง 6 สาขาเท่านั้น ที่ “บอลนี่-เมธา ชลิงสุข”  เป็นเจ้าของร้าน นอกนั้นมาจากการขายแฟรนไชส์


ผลประกอบการไม่ขี้ริ้ว


โดย ‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) มีผลประกอบการย้อนหลัง ดังนี้

  • ปี 2559 รายได้ 11,333,477.93 บาท ขาดทุน 4,038,747.16 บาท
  • ปี 2560 รายได้ 26,480,833.34 บาท กำไร 674,204.29 บาท
  • ปี 2561 รายได้ 27,379,700.15 บาท กำไร 698,721.28 บาท
  • ปี 2562 รายได้ 39,004,873.87 บาท กำไร 1,004,376.11 บาท
  • ปี 2563 รายได้ 43,762,122.18 บาท กำไร 1,778,984.00 บาท
  • ปี 2564 รายได้ 45,621,832.60 บาท กำไร 1,256,609.03 บาท


‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) ซื้อ/ขายแฟรนไชส์สุดแปลก  


จะเรียกว่าแปลกหรือแหกกฎดี เพราะ ‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) นั้นมีการขายแฟรนไชส์ที่แหวกสุด ๆ โดยมีลักษณะ ดังนี้

  • ราคาลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ อยู่ที่ 2,500,000 บาท
  • มีอายุสัญญา 5 ปี
  • บริษัทดารุมะ จะเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว
  • ปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน
  • การจัดโปรโมชันต่าง ๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ
  • ทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ
  • เจ้าของร้านไม่ต้องทำอะไร ทางเจ้าของบริษัท จะจัดหาสถานที่ เช่าสถานที่ หาลูกน้อง อุปกรณ์ ทุกอย่างเตรียมพร้อม รวมทั้งวัตถุดิบทุกอย่าง ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีหน้าที่แค่ดูแลบริหารร้านเท่านั้น
  • เจ้าของแบรนด์เป็นผู้บริหารจัดการธุรกิจ และแบ่งเปอร์เซ็นต์คืนให้กับเจ้าของแฟรนไชส์


ซึ่งเมื่อมีการเปิดเผยถึงลักษณะการซื้อ ขายแฟรนไชส์แบบนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ รวมถึงบุคคลทั่วไป ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่การซื้อ ขายแฟรนไชส์ในการทำธุรกิจ แต่อาจเข้าข่าย ‘แชร์ลูกโซ่’ มากกว่า


ข้อสังเกต “แชร์ลูกโซ่”  


ลักษณะของแชร์ลูกโซ่คือการล่อลวงให้ลงทุนเป็นเครือข่าย ที่มุ่งหารายได้จากการระดมทุน มักการันตีว่าสามารถให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีการลงทุน แต่นำเงินของสมาชิกใหม่มาเวียน เป็นผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าตามที่กล่าวอ้างในตอนแรก (เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ) และเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้ ในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหนีไป


แฟรนไชส์ปกติ ที่คนซื้อแฟรนไชส์ต้องดูแล

จากที่เราได้ดูการซื้อ ขายแฟรนไชส์แบบแหวกแนวของ ‘ดารุมะ ซูชิ’ (Daruma Sushi) แล้ว มาดูกันบ้างดีกว่า ว่าแฟรนไชส์ปกตินั้น คนที่ซื้อแฟรนไชส์จะต้องทำมีอะไรบ้าง

  • ตกแต่งร้านเอง
  • หาพนักงาน จ่ายเงินเดือนพนักงาน ส่งประกันสังคมด้วยตัวเอง
  • จัดการสต็อกสินค้าด้วยตัวเอง (บางแฟรนไชส์อาจมีขั้นต่ำในการสั่งซื้อ) บางแฟรนไชส์ สามารถจัดโปรโมชั่นเองได้
  • ต้องจ่ายค่าความภักดี (Royalty Fee) เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินกิจการ โดยปกติแฟรนไชส์ซีจะจ่ายให้แก่แฟรนไชส์เป็นรายเดือน โดยคิดจากเปอร์เซ็นต์ยอดขายในแต่ละเดือน ตามแต่ที่ตกลงกันไว้


คดีนี้มีใครเสียหายบ้าง

  • ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปบริโภค
  • ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปขายต่อ
  • ผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์
  • พนักงาน (ไม่ได้รับเงินเดือน)


การจับกุมและการแถลง 

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายเมธา ชลิงสุข หรือ บอลนี่ ประธานกรรมการบริหารบริษัทดารุมะ ซูชิ ถูกจับกุม หลังจากที่หลบหนีออกไปจากไทย ตั้งแต่ช่วงกลางดึกวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีการเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลงเครื่องที่สหรัฐอเมริกา นอนพัก 2 วันแล้วตัดสินใจบินกลับไทย โดยเปลี่ยนเครื่องที่ไต้หวัน ก่อนลงที่สนามบินสุวรรณภูมิและถูกเจ้าหน้าที่จับกุม


ต่อมา พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าสอบปากคำนายเมธา ให้การว่า ทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2559 แต่เริ่มเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินจำนวนมาก จึงขายโปรโมชันคูปองออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2563 และเมื่อเดือนมกราคม 2565 ค่อย ๆ ลดราคาลงมาเหลือ 199 บาท ซึ่งถูกกว่าความเป็นจริง


โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ และนำยอดขายวันละกว่า 1 ล้านบาทมาเข้าระบบ  แต่เมื่อโดนทวงหนี้สินจำนวนมากกว่าร้อยล้านบาท จึงตัดสินใจหลบหนีไปสหรัฐอเมริกา และเมื่อถูกกดดันจากหลายทาง จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อสู้คดี แต่ไม่ได้เป็นการกลับมามอบตัว เพราะพฤติการณ์บินไปแล้วปิดร้านทันที ชี้นำได้ว่าเป็นการหลบหนี


ส่วนการเดินทางออกนอกประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะโยกย้ายทรัพย์ แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ซึ่งเรื่องนี้ตำรวจจะดูจากพยานหลักฐานเป็นหลัก ทั้งนี้ ขณะจับกุมเจ้าหน้าที่ตรวจยึดเงินสดได้อีก 20,186 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 710,000 บาท ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินอื่น ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ เบื้องต้นได้อายัดเงินในบัญชีธนาคารมาแล้วหลักแสน ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานขอข้อมูลเส้นทางการเงินเพิ่มเติม


ขณะที่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้วกว่า 100 ราย และแจ้งความผ่านช่องทางออนไลน์อีกประมาณ 300 ราย แต่จากการพูดคุยกับผู้เสียหาย คาดว่าน่าจะมีผู้เสียหายหลายพันคน


คดี ‘แหลมเกต’ ยังไม่เข็ด จึงเกิดเหตุ ‘ดารุมะ’

ถ้ายังจำกันได้ คดีดารุมะนี้ ไม่ใช่คดีแรกที่มีการขายเวาเชอร์ แล้วก็ชิ่งกันไปแบบดื้อ ๆ แต่ยังมี ‘แหลมเกต’ ที่ทำให้หลายคนต้องเจ็บใจ และเสียน้ำตากันมาแล้ว เราลองมาดูกันหน่อยว่า คดี ‘แหลมเกต’ นั้นมันมีอะไรเกิดขึ้น


“แหลมเกต” คือร้านอาหารทะเล โดย ทายาทรุ่นที่ 2 ที่ต้องการรีแบรนด์ร้านอาหารนี้ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยการใช้โมเดล “บุฟเฟต์ ซีฟู้ด อะลาคาร์ท” ซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน หลังจากการดำเนินงานในปีแรก วางแผนไม่ดีพอ จึงทำให้ต้องปิดสาขาแรกไป


ต่อมา ปี 2558  แหลมเกต ซอยพหลโยธิน 11 เกิดขึ้นมาใหม่ มีการวาง “แนวคิด” ตั้งแต่การสร้าง “เอกลักษณ์ของแบรนด์” ทุกคนที่มาทานต้องได้ของมีคุณภาพ ในราคาที่พอใจ รสชาติดีเหมือนต้นตำรับ จนได้การต้อนรับอย่างดี ลูกค้าเต็มทุกรอบ


ปี 2560 จึงขยายกิจการ เปิดเป็นอาณาจักรใหม่ บนพื้นที่ 666 ตารางเมตร บริเวณชั้น 2 ของเอสเจ อินฟินิท ทาวเวอร์ ถนนวิภาวดีรังสิต ภายใต้ชื่อเรียกขาน “แหลมเกต อินฟินิท”


แหลมเกต อินฟินิท ตกแต่งในบรรยากาศหรูหราด้วยรูปแบบของโรงละคร ภายใต้แนวคิดความสุขบนรสชาติอาหารที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ เสิร์ฟความอร่อยกว่า 20 เมนู อาทิ ปลากะพงทอดน้ำปลา หอยนางรมสด กรรเชียงปูผัดผงกะหรี่ ฯลฯ ทุก 90 นาที ตั้งแต่ช่วงเวลา 11.30 - 21.00 น. แบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 250 คน


ปี 2562 เปิดโปรขายเวาเชอร์เพียงหลักร้อย เสิร์ฟอาหารทะเล โปรโมชันตอนนั้นเริ่มตั้งแต่ 100 บาท จากราคาปกติ 888 บาท แต่เมื่อผู้ซื้อนำบัตรไปใช้จริง ปรากฏว่าบางเมนูอาจต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้านาน ทำให้หลายคนใช้ไม่ทันเวลา


ผู้ที่ซื้อโปรฯ นี้ออกมาแฉเรื่องราว จนทางร้านขู่ฟ้องร้อง กระทั่งลูกค้าคนอื่น ๆ ที่โดนเหมือนกันออกมาเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ทวงเงินค่าซื้อโปรโมชันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้จำนวนมาก สุดท้าย ทางร้านไม่สามารถให้บริการได้ จึงทำการยกเลิกโปรโมชัน ยกเลิกเวาเชอร์ บอกจะคืนเงิน แต่ก็ไม่สามารถคืนเงินได้จนเกิดคดีความในที่สุด


ปี 2563 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1,446 ปี บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด พร้อมกับจำเลยอีก 2 คน และปรับ 3,615,000 บาท ในความผิดร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา เเละพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกจำเลย คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา


ไม่ใช่แค่เวาเชอร์ แต่เจอ ‘ของถูก’ อย่าเพิ่งรีบวิ่งเข้าใส่


ไม่ใช่แค่เวาชอร์เท่านั้นนะ ใครขาออกกำลังกาย คงได้เคยได้ยินเรื่องราวของ ‘แคลิฟอร์เนีย ว้าว’ ปี 2544 “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” แบรนด์ธุรกิจออกกำลังกาย สัญชาติอเมริกัน ได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้การบริหารงานของ เอริค มาร์ค เลอวีน ชาวอเมริกัน


แคลิฟอร์เนีย ว้าว เน้นการขยายสาขาแบบเชิงรุก โดยใช้วิธีการบุกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูดี บวกกับสาขาที่ทั่วถึง ทำให้มีคนสมาชิกจำนวนมาก และยินดีควักเงินจ่ายค่าสมาชิกแบบรายปี ทั้งที่ราคาสูงมาก


ปลายปี 2548 แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทสามารถแสดงผลประกอบการที่มีกำไรได้เพียงแค่ปีเดียว คือปี 2549 ขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งพักการซื้อขายหุ้น ในปี 2554 จนในที่สุด แคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็ทยอยปิดตัวลงทุกสาขา


แต่ก่อนจะปิดตัวลงนั้น แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้ออกโปรโมชัน ‘เล่นฟิตเนสตลอดชีพ’ ออกมาในราคาถูกแสนถูก ทำให้มีคนสมัครจำนวนมาก แต่ก็ตามที่เป็นข่าว คือสุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงทุกสาขา มีข่าวการฉ้อโกง เพราะพบว่า มีการแจ้งขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปี แต่กลับมีการโอนเงินไปต่างประเทศต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะปี 2553 มีการโอนเงินออกไปต่างประเทศสูงสุดถึงกว่า 495 ล้านบาท รวม 10 ปี มีเงินหมุนเวียนกว่า 1,600 ล้านบาท


บทสรุป ในปี 2556 ศาลล้มละลายกลางได้มีคําพิพากษาให้บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จํากัด (มหาชน) ล้มละลาย และมีคําสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกําหนดวันเวลาในการขอรับชําระหนี้ต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News