อาชญากรรม
ปอศ. เปิดปฏิบัติการตัดวงจร "แชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4" อายัดทรัพย์กว่า 50 ล้าน
โดย nutda_t
27 ก.พ. 2568
1.1K views
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ นำโดย พ.ต.อ.กริช วรทัต ผกก.4 บก.ปอศ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการ “ตัดวงจรแชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4” ตรวจค้นจำนวน 4 จุด ในพื้นที่ เขตคันนายาวและเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ร่วมกันจับกุม นางสาวเริงฤดี อายุ 45 ปี และนางสาวพรพิมล อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาฐานความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” พร้อมตรวจยึดของกลางจำนวน 413 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 50 ล้านบาท
สืบเนื่องเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ผู้เสียหายจำนวน 61 ราย ได้เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท ปันสุข555 จำกัด และบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมี นางสาวเริงฤดี และนางสาวพรพิมล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีพฤติกรรมชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนธุรกิจซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในนามซิมการ์ดโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ชื่อ “Sim K4” และตู้เติมเงินชื่อ “ตู้เคธี่ปันสุข” ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ เติมเงินวอลเล็ต ชำระบิลค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า โดยเสนอแพ็กเกจ เมื่อลงทุน 50,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนสูงสุด 150,000 บาท ภายในระยะเวลา 500 วัน คิดเป็นร้อยละ 219 ต่อปี

และมีการขยายศูนย์ตัวแทนจำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดการอบรมสัมมนาชักชวน ซึ่งหากสมาชิกสามารถแนะนำชักชวนดีลเลอร์หรือสมาชิกใหม่จะได้รับส่วนแบ่งสูงสุดถึงร้อยละ 50 ของค่าสมัคร โดยผู้ที่สนใจลงทุนต้องสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ https://kathyrobot.punsook555.co.th และมีรูปแบบการโอนเงินลงทุนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ซึ่งในช่วงแรกผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจริง ทำให้มีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ต่อมาช่วงเดือนตุลาคม 2567 สมาชิกเริ่มไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน จึงได้พยายามติดตามทวงถาม แต่ผู้ต้องหาได้บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ผู้เสียหายจึงได้รวมตัวกันมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา มูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวน 27,557,701 บาท
จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินกว่าที่สถาบันการเงินตามกฎหมายพึงจะจ่ายได้ อีกทั้งธุรกิจตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจระบบชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาใช้วิธีรับเงินลงทุนและจ่ายผลตอบแทนผ่านระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ พบเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัทผู้ต้องหากว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่านางสาวเริงฤดีฯ มีการยักย้ายถ่ายโอนแปรสภาพเงินเป็นทรัพย์สินต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

จนกระทั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้เปิดปฏิบัติการ “ตัดวงจรแชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4” ทำการตรวจค้นจำนวน 4 จุด ในพื้นที่ เขตคันนายาวและเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยบ้านพักอาศัยของผู้ต้องหาและสถานที่ทำการของบริษัท พบว่าบริษัทผู้ต้องหามีพนักงานประมาณ 15 คน มีห้องจัดสัมมนาสำหรับชักชวนผู้ลงทุน โดยที่บริษัทมีการสต๊อคตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการจูงใจให้มีการลงทุน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการทดสอบ เบื้องต้นพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่โฆษณา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดพยานเอกสารซึ่งใช้เป็นหลักฐานประกอบการสอบสวน และตรวจยึดทรัพย์สินต่างๆ จากผู้ต้องหารวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท พร้อมทั้งจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการสอบถามผู้ต้องหา ทั้งสองรายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
แท็กที่เกี่ยวข้อง แชร์ลูกโซ่ ,ตู้เติมเงิน ,แชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4