สังคม

ราชทัณฑ์แจงปมพักโทษ 'เสี่ยเปี๋ยง' ป่วยร้ายแรงเข้าเงื่อนไข ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย

โดย panisa_p

6 ธ.ค. 2567

17 views

กรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงชี้แจงกรณีการปล่อยตัวพักโทษ ผู้ต้องขังคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว 2 คน ทั้งกรณีของ นายบุญทรง และเสี่ยเปี๋ยง ยืนยันว่า ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้ดุลพินิจส่วนตัว และไม่เกี่ยวรัฐบาลเพื่อไทย



นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทีมผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันแถลง กรณีการปล่อยตัว พักการลงโทษนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" อดีตนักธุรกิจวงการข้าวและเป็นคีแมนสำคัญในคดีโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งถูกจำคุกในคดีร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือโครงการรับจำนำข้าว เมื่อปี 2558 หลังก่อนหน้านี้ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นร้องเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง



นายสมบูรณ์ กล่าวว่า หลักการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์หลังจากที่ศาลได้พิพากษาแล้ว ไม่ได้อยู่เหนืออำนาจกฎหมาย หรืออยู่เหนืออำนาจศาล แต่ทุกอย่างดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการพักโทษมี 2 กรณี คือ พักโทษกรณีปกติ และพักโทษกรณีพิเศษ รวมเฉลี่ยแต่ละปีมีการพักโทษให้ผู้ต้องขังมากกว่า 20,000 ราย แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เนื่องจากจะขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ในกรณีบุคคลที่มีชื่อเสียงนั้น ทางสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าว ทำให้การพักโทษของบุคคลที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อสาธารณะ



นายสมบูรณ์ บอกว่า การพักโทษ ไม่ใช่การพ้นโทษ ผู้ได้รับการพักโทษยังคงอยู่ระหว่างการต้องโทษ แต่กฎหมายต้องการให้ผู้ถูกคุมขังมีโอกาสใช้ชีวิต เพื่อปรับตัวเข้าสู่ในสังคม โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา รวมถึงกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการพักโทษ เช่น ต้องมารายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติ เป็นต้น แต่หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็จะต้องกลับสู่สถานที่คุมขัง ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ต้องกลับสู่สถานที่คุมขังเฉลี่ย5เปอร์เซ็นต์



โดยในส่วนของนายบุญทรงนั้น ได้รับการพักโทษกรณีปกติ หลังได้รับการอภัยโทษรวม 4 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน แต่นายบุญทรงได้จำคุกมาแล้วเป็นเวลา 7 ปี 3 เดือน 10 วัน หรือรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ทำให้เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ



ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องหาคดีรับจำนำข้าว ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยนั้น นายสมบูรณ์ บอกว่า เป็นเรื่องช่วงเวลาที่เข้าเงื่อนไขการพักโทษพอดี ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ อย่างกรณี ของนายบุญทรงที่รับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ก็มาครบในสมัยรัฐบาลนี้พอดี



ในส่วนกรณีของเสี่ยเปี๋ยงนั้น นายสมบูรณ์ ศิลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม บอกว่า จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 หรือมีอาการเจ็บป่วย 8 โรคร้ายแรง ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง โรคต่อมลูกหมากโต โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ



ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า โรคเหล่านี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับพักโทษเป็นกรณีพิเศษ



อีกทั้งยังรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หลังได้รับอภัยโทษมา 5 ครั้ง เหลือโทษ 21 ปี 11 เดือน 38 วัน จึงมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการเรือนจำฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 8 ต่อ 0 เห็นว่า เสี่ยเปี๋ยงควรได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษจากการเจ็บป่วยร้ายแรง



นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการรักษาของทีมแพทย์โรงพยาบาลราชทันฑ์ พบว่า เสี่ยเปี๋ยงมีอาการผิดปกติมาตั้งแต่ปี 2565



โดยจากการตรวจเลือดและตรวจร่างกาย พบมีภาวะตัวบวม ปัสสาวะน้อย ไตทำงานผิดปกติ และอาการทรุดลงเรื่อยๆ จนแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีความเห็นว่าควรย้ายเสี่ยเปี๋ยงไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางโรคไต ที่ลงความเห็นว่าเสี่ยเปี่ยงมีอาการไตเสื่อมระยะสุดท้าย ต้องได้รับการฟอกไต ต่อมาก็ยังมีอาการติดเชื้อเป็นระยะ ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีต่อเนื่อง และทำการฟอกไตที่เรือนจำทุกวัน จนเมื่อปลายปี 2566 แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี พิจารณาให้เสี่ยเปี๋ยงเข้ารับการปลูกถ่ายไต ที่โรงพยาบาลพระราม 9 หลังจากนั้นก็ต้องรับยากดภูมิต่อเนื่อง



นอกจากนี้นายสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังเปิดเผยถึงกรณีการ ออกระเบียบเรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อรอการเดินทางกลับประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่าระเบียบนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เพราะประกาศออกมาเมื่อปี 2566 เมื่อมีประกาศแล้วก็ต้องออกระเบียบตามมาในช่วงนี้ พร้อมยอมรับว่า เรื่องนี้สร้างความคลางแคลงใจให้หลายฝ่าย แต่ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อใครจริงๆ เป็นการจัดการของเรือนจำเท่านั้น แต่น่าจะบังคับใช้ได้ภายในปีหน้า

คุณอาจสนใจ

Related News