สังคม

กรมวิทย์ฯ ยันยังไม่พบเชื้อ 'ฝีดาษลิง' สายพันธุ์ที่ระบาดทวีปแอฟริกาในไทย

โดย parichat_p

19 ส.ค. 2567

64 views

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรล่าสุดองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้โรคเอ็มพ็อกซ์ หรือ ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี หลังการแพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวานนี้มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันไทยยังไม่พบเชื้อฝีดาษวานรสายพันธุ์ที่ระบาดในทวีปแอฟริกา โดยได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการเครือข่ายกว่า 62 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาด ซึ่งสามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง


กรมอนามัยของฟิลิปปินส์เผยพบผู้ติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์ หรือ ฝีดาษลิงใหม่ 1 ราย จากการตรวจสอบประวัติพบว่าไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน


กรมอนามัย ของฟิลิปปินส์ รายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่ม 1 คน เมื่อวานนี้ และถือเป็นผู้ติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์รายที่ 10 ของประเทศ แต่เป็นผู้ป่วยรายแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว


โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ถูกตรวจพบหลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ยกระดับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์ให้เข้มงวดมากขึ้น จากการที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้โรคเอ็มพ็อกซ์เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


กรมอนามัยของฟิลิปปินส์ระบุว่า ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงคนนี้เป็นชายวัย 33 ปี ไม่เคยมีประวัติเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน โดยมีอาการไข้ เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน และมีผื่นขึ้นตามใบหน้าและร่างกายในอีก 4 วันต่อมา ซึ่งจนถึงตอนนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ติดเชื้อรายนี้นี้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับทั่วโลกหรือไม่


นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย ด้วยการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด


ล่าสุดการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 191 ราย ผลการวิเคราะห์แบ่งได้เป็น 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1


โดยพบสายพันธุ์ย่อย C.1 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 85.34% รองลงมาคือสายพันธุ์ย่อย A.2.1 จำนวน 5.76% C.1.1 จำนวน 3.66% และ A.2 อีก 2.09%


ขณะที่สายพันธุ์ย่อย C.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาดที่เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2


บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับตัวตลอดเวลา แต่สายพันธุ์ย่อย C.1 ก็ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เคลดวัน (Clade I) ที่มีการระบาด อยู่ในทวีปแอฟริกา


โดยเคลดวัน มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% ในขณะที่เคลดทู ทั้งเคลดทูเอ และ เคลดทูบี ซึ่งรวมถึง C.1 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเพียง 1%


นายแพทย์ยงยศ ยืนยันว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการเครือข่าย จำนวน 62 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจเชื้อฝีดาษวานร ได้ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก ภูเก็ต ราชบุรี ลำปาง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี ทั้งนี้สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม ในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรทางห้องปฏิบัติการ และสามารถถ่ายทอดไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่าย ช่วยส่งเสริมการควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายของโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ

คุณอาจสนใจ

Related News