เลือกตั้งและการเมือง
เพื่อไทยวอนมูฟออน หลังกรมวิทย์ฯ ตรวจข้าว 10 ปี ไร้สารปนเปื้อน มีคุณค่าทางอาหาร
โดย nattachat_c
21 พ.ค. 2567
17 views
วานนี้ (20 พ.ค. 67) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนางวิชาดา จงมีวาสนา ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจตัวอย่างข้าว 10 ปี
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ ได้รับข้าว 2 ตัวอย่าง ปริมาณ 3 กิโลกรัมและ 5 กิโลกรัม จากกรมการค้าภายใน ที่ส่งมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โดยเป็นตัวอย่างข้าวจาก 2 โกดัง ประกอบด้วย โกดังข้าวกิตติชัย และโกดังของ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง จำกัด จึงได้มอบให้ สำนักควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับรับรองมาตรฐานตามหลักสากล ISO 17025
โดยตรวจสอบใน 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม คือการดูลักษณะทั่วไป ดูลักษณะสี กลิ่นของเมล็ดข้าว และดูสิ่งแปลกปลอม เช่น แมลง ซากแมลง ชิ้นส่วนแมลง หิน กรวด เป็นต้น
2. ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารพิษจากเชื้อรา เช่น สารอะฟลาท็อกซิน ทั้ง 5 สารพันธุ์ สารตกค้างที่เหลือจากการรมข้าว สารเคมีที่มีข้อกำหนดต้องตรวจตามมาตรฐานการเกษตร 250 ชนิด การตรวจโลหะหนัก
3. ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ที่ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ นอกจากนั้น ยังได้ตรวจหาสารพิษที่พบในอาหารประเภทบะหมี่ ตามที่มีรายงานข้าวในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันด้วย
โดยตรวจสอบคุณภาพเปรียบเทียบกับตัวอย่างควบคุม ซึ่งมีการสุ่มซื้อข้าวหอมมะลิจากท้องตลาดทั่วไปมาเปรียบเทียบ ส่วนการตรวจข้าว มีทั้งตรวจด้วยตาเปล่า ด้วยการดม และใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 30 และ 50 เท่า เพื่อตรวจสอบคุณภาพ
ผลตรวจด้านกายภาพและสิ่งปลอมปน พบว่า ตัวอย่างข้าวทั้ง 2 ชนิด มีวัตถุสิ่งแปลกปลอม ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นมอดและ เศษซากของแมลงปะปนอยู่ ถือว่า สามารถพบได้ในข้าวสาร ทั้งนี้ ตามมาตรฐานข้อกำหนดข้าวที่ต้องปลอดสิ่งแปลกปลอม ถือว่า ข้อแรกไม่ผ่านมาตรฐาน
ผลตรวจด้านความปลอดภัย ไม่พบสารอะฟลาท็อกซิน ทั้งในข้าวตัวอย่างที่ 1 และข้าวตัวอย่างที่ 2 เช่นเดียวกับสารรมข้าว และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ก็ไม่พบมีสารตกค้าง ซึ่งการตรวจด้านความปลอดภัยนั้น นายแพทย์ยงยศ ระบุว่า มีการตรวจซ้ำถึง 3 ครั้ง มากกว่าที่มาตรฐานกำหนด และไม่พบโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ดีบุก ปรอท สารหนู ทั้ง 2 ตัวอย่างเช่นกัน
ผลตรวจด้านคุณค่าทางโภชนาการ ผลสรุป ข้าวทั้ง 2 ตัวอย่าง มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เหมือนเช่นข้าวที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
เมื่อสอบถามถึง วิธีการตรวจสอบอายุของข้าว สามารถทำได้หรือไม่ นพ.ยงยศ ระบุว่า ตามที่ตนทราบ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการใด สำหรับการตรวจสอบอายุของข้าว พร้อมย้ำว่า การตรวจสอบข้าวนั้น ดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง รวมทั้ง ยังใช้นักวิทยาศาตร์ที่มีความชำนาญกว่า 10 คนในการตรวจครั้งนี้ ซึ่งผลออกมาสรุปเบ็ดเสร็จ กลางดึกคืนวันศุกร์ รายงานผลเมื่อวันเสาร์ จึงได้มาแถลงข่าววานนี้ ยืนยันว่า กรมวิทย์ไม่ได้ดึง หรือชะลอผลแต่อย่างใด
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ข้าวจากโครงการรับจำนำมีทั้งหมด 2 โกดัง / มีข้าวอยู่ 15,000 ตันหรือ 145,000 กระสอบ
- โกดังกิตติชัย 11,645.65 ตัน
- คลังพูนผล 3,356.59 ตัน
- ซึ่งโกดังทั้ง 2 แห่งอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นข้าวสารของรัฐบาล ล็อตสุดท้าย
ในขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง ได้มอบหมายให้บริษัทเอกชน ซึ่งมีการรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล เก็บตัวอย่างข้าวส่งตรวจ นอกจากนี้ ยังได้นำบริษัทจากต่างประเทศ มาตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของข้าวที่อยู่ในคลัง ซึ่งพบว่า ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 โกดัง ทั้งนี้ หากประชาชนยังไม่มีความมั่นใจ ทางกรมการค้าภายใน พร้อมเก็บตัวอย่างข้าว ส่งตรวจเพิ่มเติมอีกในอนาคต
ด้าน นายกฤณลักษ์ ใจดี รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า กล่าวว่า ข้าวที่นำมาตรวจเป็นข้าวตัวอย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงไปตรวจ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ข้าวที่นำมาตรวจอยู่ในอาคารเดียวกันกับข้าวในโครงการรับจำนำข้าว และคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการประกาศ เปิดประมูลเพื่อจำหน่ายข้าวในสต๊อกดังกล่าว
-------------
หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า
#กรมวิทย์เปิดผลตรวจข้าว10ปีไม่พบสารปนเปื้อน
ผมไม่แปลกใจที่ผลตรวจสอบข้าว10ปี ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบอัลฟาท็อกซินและสารปนเปื้อน มีคุณค่าทางอาหาร
ประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องทราบ ข้าว10ปี สองคลังนี้ แม้จะเป็นข้าวหอมมะลิ แต่ก็เป็นคลังที่ผู้ชนะประมูล รับข้าวไปบางส่วน ส่วนที่เหลือไม่มารับ เพราะมีข้าวขาวปลอมปนเข้ามา ภาษาชาวบ้านคือข้าวเหลือทิ้ง
ที่สำคัญคือมีการเปิดคลัง เข้าไปจัดเรียงกองข้าวใหม่ พบมีกระสอบข้าวใหม่ที่ดู สภาพยังดี ไม่มีรหัสของโครงการรับจำนำข้าว พ่นติดข้างกระสอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีข้าวกระสอบใหม่เข้าไปผสมหรือไม่
คำถามที่ต้องถามคือ ตกลงแล้วข้าวที่เอามาส่งตรวจคือข้าวใหม่หรือข้าวเก่า เป็นหอมมะลิหรือข้าวเจ้า ทำไมจึงทำเงียบ ๆ ไม่โปร่งใส ทางที่ดีควรจะให้นักวิชาการเข้าไปสุ่มตรวจ เพื่อความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นต่อข้าวไทย
----------------
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง กรณีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ไม่พบสารปนเปื้อน และมีคุณค่าทางโภชนการ ว่า
ขอขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ให้ความชัดเจนต่อกรณีข้าวในโกดัง จ.สุรินทร์ ในโครงการรับจำนำข้าว ว่ามีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถจำหน่ายได้ มีสารอาหารเทียบเท่าข้าวที่ขายตามท้องตลาดปัจจุบัน ไม่มีสารเคมีตกค้าง และการปนเปื้อนจากเชื้อรา ซึ่งสอดคล้องกับที่มีสื่อมวลชนนำไปทดสอบกับห้องตรวจเอกชนก่อนหน้านี้
จึงสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวทั้ง 2 โกดังนี้ อย่างเต็มที่ เพื่อนำรายได้กลับเข้ารัฐในราคาที่เหมาะสม และคลี่คลายปัญหาการระบายข้าวที่ค้างคาเกินความจำเป็นมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปมาก
“รัฐบาลทราบดีตั้งแต่ต้นว่า ข้าวทั้ง 2 โกดังนี้ ไม่ได้มีคุณภาพ 100% เหมือนข้าวใหม่ แต่ต้องยืนยันว่ายังจัดเป็นข้าวดีที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะจำหน่ายได้ และไม่เคยมีความคิดปกปิดซ่อนเร้นสิ่งใด จึงแสดงความจริงใจผ่านการเชิญสื่อมวลชนเข้าติดตามทั้งกระบวนการมาโดยตลอด”
นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้สะสางคดีในอดีตนั้น สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวชัดเจนอยู่แล้วว่า มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกรณีต่าง ๆ อยู่ ทั้งโกดังที่มีการปล่อยปละละเลยการจัดเก็บตามมาตรฐานสัญญา หรือกรณีที่มีการประเมินข้าวเกรดสูงตัดเกรดเป็นข้าวเกรดต่ำ เพื่อระบายในราคาถูก เป็นต้น จึงเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความชัดเจน และความเป็นธรรม ต่อไป
“ผลการตรวจสอบข้าวทั้งจากรัฐและเอกชน ยืนยันตรงกันแล้วว่า ข้าวมีมาตรฐานเพียงพอจะจำหน่ายได้ อยากให้กลุ่มที่มีอคติกับโครงการรับจำนำข้าวมูฟออน เลิกวิพากษ์วิจารณ์ข้าวเสีย ๆ หาย ๆ เลิกทำลายความน่าเชื่อถือของข้าว และทำร้ายชาวนาไทย เพียงเพื่อหวังจะดิสเครดิตรัฐบาล แล้วเปิดใจรับทราบความตั้งใจดีในการทำงานของรัฐบาล และช่วยกันประชาสัมพันธ์ประเทศในแง่บวกจะดีกว่า“ นายชนินทร์ กล่าว
----------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/fxbkvKzH02c