สังคม
แกะรอยเครือข่ายลักลอบหลอม อะลูมิเนียม ดรอส 12,000 ตัน พบจุดนำไปทิ้ง จ.สุพรรณบุรี
โดย parichat_p
13 ส.ค. 2567
313 views
ข่าว 3 มิติ ยังเกาะติด กรณีโรงงานเถื่อนที่จังหวัดนครปฐม ลักลอบเก็บกากอุตสาหกรรม อะลูมิเนียมดรอส มากกว่า 12,000 ตัน และยังลักลอบหลอม และหล่อ เป็นอะลูมิเนียมแท่ง ทั้งที่เป็นโรงงานเถื่อนโดยสิ้นเชิง ข่าว 3 มิติพบว่า โรงงานนี้ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าพนักงานทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด และเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ นอกจากนี้ ยังได้เบาะแสที่น่ากังวลว่า วัตถุดิบเหล่านี้ลักลอบขนส่งจากสมุทรสาคร ไปลักลอบหลอมที่นครปฐม ส่วนกากอุตสาหกรรมอันตรายที่เกิดขึ้น ลักลอบนำไปทิ้งที่สุพรรณบุรี
คำสารภาพของหัวหน้าคนงาน ต่อตำรวจสอบสวนกลาง และเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม คือการยอมรับว่า นายหน้าชาวจีนรายหนึ่ง รวบรวมกาก อะลูมิเนียมดรอส จากโรงงานหลอมอะลูมิเนียมที่มีจำนวนมากในซอยกองพนันพล อ.เมือง สมุทรสาคร เพื่อมาหลอมโรงงานนี้ ที่เป็นของนายเจิง ปิง หยาง แต่เพราะช่วงนี้หลอมไม่ทัน จึงส่งไป หลอมที่โรงงานไท่เป่า ต.บางกระเจ้า สมุทรสาคร ช่วยหลอมให้ ซึ่งโรงงานไท่เป่า มีผู้หญิงเป็นกรรมการ แต่สันนิษฐานอาจเป็นนอมินี
คำสารภาพดังกล่าว สอดคล้องกับที่เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม เคยมาตรวจพบ เมื่อปี 2566 ว่ามีการแอบหลอมอะลูมิเนียมที่นี่จึงให้หยุด เพราะเป็นเขตผังเมือง สีชมพู ตั้งโรงงานลักษณะนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ คำสารภาพของหัวหน้าคนงาน ก็สอดคล้องกับที่อุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม ตรวจพบเมื่อเมษายนที่ผ่านมาว่าโรงงานเถื่อนนี้ มีบริษัทเอวาย 2021 จำกัดเป็นเจ้าของ จึงออกคำสั่งให้หยุดกิจการทันที การที่ตอนนี้พบว่าลักลอบหลอมหล่ออีก เท่ากับฝ่าฝืนคำสั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานทั้งหมด แจ้งความเพิ่มเติม
นอกจากเบาะแสว่าโรงงงานเถื่อนนี้ลักลอบหลอม และหล่อ อะลูมิเนียม ดรอสมาอย่างน้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว ข่าว 3 มิติ ก็ยังพบว่าโรงงานเถื่อนนี้ใช้แรงงานต่างด้าว เกือบทั้งหมด ทำงานภายใต้อันตรายของกากสารเคมี เพราะแม้จะมี ระบบกรองฝุ่นละออง แต่เจ้าหน้าที่พบว่าระบบไม่น่าถูกเปิดใช้งาน
เจ้าของโรงงานเถื่อนอ้างว่า เพื่อประหยัดไฟ แต่แหล่งข่าวบอกกับข่าว 3 มิติ ว่า เป็นเพราะหากเปิดระบบระบายอาจทำให้เสียงดัง และมีกลิ่นออกไปนอกโรงงาน จนทำให้รู้ว่ามีการ ลักลอบทำงาน รวมถึงหากเปิดระบบระบายอากาศ ก็อาจทำให้สะเก็ดไฟจากการหลอม ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น หัวหน้าคนงาน ยังให้การว่ากากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการหลอมนี้ จะถูกบรรทุกไปทิ้งโดยการฝังที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งขนย้ายไปแล้วหลายเที่ยว ข้อมูล ที่ข่าว 3 มิติเปิดเผยนี้มาจากการให้การปากคำของหัวหน้าคนงาน ต่อหน้าตำรวจและเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอบปากคำเพิ่ม เพื่อขยายผลให้ได้ คำตอบว่า พิกัดที่ถูกอ้างว่าทิ้งนั้นอยู่ที่ใดแน่
พลตำรวจตรีวัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจปทส. ระบุว่าได้สั่งการให้ กองกำกับการ 5 ปทส. ประสานงานกับตำรวจทางหลวงนครปฐม ซึ่งเป็นผู้ตรวจจับรถบรรทุกกากได้ อย่างใกล้ชิด เพื่อขยายผลต่อเนื่องทั้งต้นทางที่มาของอะลูมิเนียมดรอส ไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ รวมถึงปลายทางของกากที่นำไปทิ้ง
ข่าว 3 มิติ ตั้งข้อสังเกตุว่า มีถุงบิ๊กแบ๊กจำนวนมากในโกดังนี้ บ่งชี้ว่ามาจากต่างประเทศ แต่ยังเป็นปริศนาว่ามาจากที่ใด และด้วยวิธีใด เพราะประเทศไทยไม่อนุญาต ให้นำเข้า อะลูมิเนียม ดรอส อยู่แล้ว แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ลักลอบนำเข้ามาโดยสำแดงเท็จ
กระทั่งพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศไทย มีการนำเข้า ผลอะลูมิมิเนียม เศษอะลูมิเนียม ที่ไม่ได้ใช้แล้ว พิกัดศุลกากร 76020000
โดยข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า พิกัดศุลกากร76020000 ประเภท Aluminuim waste and scrap ตั้งแต่มกราคมปีนี้ ถึงมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 355 ล้านกิโลกรัม หรือ 355,665 ตัน / หากตรวจสอบย้อนหลัง ตามพิกัดนี้ จะพบว่า ปี 2560 นำเข้า 108,308,711 กก. หรือกว่า 1แสน 8 หมื่น ตัน / ปี 2561 นำเข้า 125,537,394 กก. / 1 แสน 2 หมื่นตัน / ปี 2562 นำเข้า 176,585,395 กก. หรือ 1 แสน 7 หมื่นตัน
ปี 2563 นำเข้า 274,810,793 กก. /สองแสน 7 หมื่นตัน // ปี 2564 นำเข้า 364,433,895 กก. 3 แสน 6 หมื่นตัน //ปี 2565 นำเข้า 376,680,790 กก. หรือสามแสน 7 หมื่น ตัน และ ปี 2566 นำเข้า 491,761,114 กก. กว่า 4 แสน 9 หมื่นตัน
ข้อมูลนี้เป็นการนำเข้า Aluminuim waste and scrap ตามปกติ แต่ข่าว 3 มิติตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่อะลูมิเนียม ดรอส จะนำเข้ามาโดยสำแดงเท็จหรือแอบแฝงมาแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะลักลอบนำเข้าโดยอ้างพิกัดใด แต่ก็มีหลักฐานชัดเจนแล้วว่า มีการนำเข้ามาแล้วจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นโจทก์ใหญ่ที่เจ้าหน้าที่กำลังตามแกะรอยในตอนนี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง เร่งแกะรอย ,หลอมอะลูมิเนียมดรอส ,อะลูมิเนียมดรอส ,กากอุตสาหกรรม