สังคม

เปิดจุดเริ่มต้นการระบาด 'ปลาหมอคางดำ' เอเลี่ยนสปีชีส์ นักทำลายระบบนิเวศ

โดย panwilai_c

16 ก.ค. 2567

76 views

กรณีผลกระทบที่เกิดจากการรุกรานเเละเเพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเเละนักอนุรักษ์ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเเละตั้งคำถามถึงรัฐบาลเเละหน่วยงานที่รับผิดชอบ หลังปล่อยให้ปัญหานี้ยืดเยื้อจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ต้นตอการระบาดมาจากไหนกันเเน่ เพื่อหาความเป็นไปได้จากคำถามนี้



ทีมข่าว 3 มิติ จึงเข้าไปสำรวจในบริเวณที่เป็นจุดเริ่มต้นการเเพร่ระบาดครั้งเเรก ในพื้น อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีข้อสังเกตที่สอดคล้องกับรายงานวิจัยฯที่บ่งชี้ว่า "ประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทย มีแหล่งที่มาร่วมกัน"



ไม่ว่าจะทอดเเห-หรือโยนตาข่ายลงไปกี่ครั้ง สิ่งที่ได้นอกจากปลานิล ก็จะมีปลาหมอคางดำ ขนาดตั้งเเต่ 3-4 นิ้ว ติดขึ้นมาด้วยทุกรอบ นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ให้ว่า ภายในบึงมักกะสัน กำลังถูกเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์นี้ รุกรานเข้ามาจนถึงใจกลางกรุงเทพเเล้ว



เช่นเดียวกับเเหล่งน้ำเเเละคูคลองในเขตบางขุนเทียน วันนี้หลายพื้นที่ถูกรุกรานจากปลาหมอคางดำ เช่นที่คลองต้นตาล คนที่ผ่านไป-มา สามารถสังเกตเห็นพวกมันได้ไม่ยาก



เป็นเวลาถึง 14 ปีเเล้ว ที่ประเทศไทยได้ยินชื่อเเละได้รู้จักกับ"ปลาหมอคางดำ" ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปเเอฟริกา จากเดิมที่คาดหวังจะพัฒนาให้เป็นปลาเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นสัตว์น้ำที่ก่อปัญหา ทั้งต่อระบบนิเวศเเละพี่น้องเกษตกร มานานหลายปีเเล้ว



ข่าว 3 มิติ พบข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นการนำเข้า เริ่มขึ้นในปี 2549 มีเอกชน ก็คือ บริษัทในเครือ CPF พยายามขออนุญาตนำเข้าเพื่อวิจัยเเละพัฒนาสายพันธุ์ เเต่ติดที่เงื่อนไขบางอย่าง



จนกระทั่ง เดือนธันวาคม ปี 2553 ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลาของ CPF ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เริ่มนำเข้าปลาหมอคางดำ จำนวน 2,000 ตัว เเต่กลับพบปัญหาปลาเริ่มทยอยตาย ที่สุดจึงตัดสินใจหยุดการวิจัย เเละอ้างว่าได้ทำลายซากปลาทั้งหมดเเล้ว ในช่วงมกราคมของปีถัดมา



เป็นที่น่าสังเกตว่า จุดเริ่มต้นของการเเพร่กระจาย ตามข้อมูลของเกษตรในพื้นที่อัมพวา พบว่าในปี 2554 ไม่กี่เดือนหลังจากศูนย์วิจัยฯ อ้างว่าปลาหมอคางดำทยอยตายเเละได้ทำลายซากไปเเล้ว จู่ๆ ก็กุ้งเเละปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อหายเกลี้ยง เเละถูกเเทนที่ด้วยปลาหมอคางดำ กระทบชัดที่สุดเวลานั้นก็คือพื้นที่ ต.เเพรกหนามเเดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์วิจัยฯ



จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ทีมนักวิจัย จากกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กรมประมง ศึกษาวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จนได้ผลสรุปเป็นข้อสังเกต ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประชากรปลาหมอสีคางดำ ที่แพร่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่เอาไปใช้ยืนยันเเหล่งที่มาหรือต้นตอได้



ประกอบกับก่อนหน้านี้ กรมประมง รายงานว่า ไทยเคยส่งออกปลาหมอคางดำไปต่างประเทศ ในฐานะปลาสวยงามกว่า 3 เเสน 2 หมื่นตัว ในช่วงปี 2556 -2559 ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ไทยมีการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ปลาหมอคางดำ มาเพาะเลี้ยงในกลุ่มปลาสวยงาม ประทั่งปี 2561 กรมประมงออกประกาศสั่งห้าม หลังพบว่าจัดอยู่ในกลุ่มเอเลียนสปีชีส์



ซึ่งเครือข่ายอนุรักษ์บางส่วน ก็มองว่า ข้อมูลนี้อาจเป็นความพยายามบิดเบือนเพื่อปัดความรับผิดชอบหรือไม่ เหล่านี้จึงเป็นข้อสังเกตเเละคำถาม ที่หลายฝ่าย คาดหวังว่า การเเถลงของกรมประมงจากนี้ จะมีคำตอบที่ชัดเจน

คุณอาจสนใจ

Related News