สังคม

ม.บูรพา เผยผลวิจัย ทะเลอ่าวไทยอุณภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สาเหตุสำคัญ 'ปะการังฟอกขาว'

โดย panwilai_c

22 มิ.ย. 2567

153 views

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยข้อมูลผลกระทบจากภาวะโลกร้อนล่าสุด พบอุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยปีนี้พุ่งสูงเป็นสถิติใหม่แทนปี 2553 แล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวและหญ้าทะเลที่หายไปในช่วงปีที่ผ่านมา โดยทางสถาบันมองว่าสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความท้าทายถึงแนวทางการอนุรักษ์และแก้ไข เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อการฟื้นฟูในระยะยาวไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ต่อจากนี้



อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นตอนนี้ กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และ การหายไปของหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน



ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เปิดเผยผลการศึกษาปะการังฟอกขาว



ทั้งพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน ระหว่างปี 2566 และ 2567 พบอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 องศาเซลเซียส โดยข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า ช่วงวันที่ 20 เมษายน-11 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบปะการังฟอกขาวระดับรุนแรงจนถึงรุนแรงมากรวมกันถึง ร้อยละ 63.2 และ พบปะการังฟอกขาวไม่รุนแรง ร้อยละ 25.1 เหลือเพียง ร้อยละ 11.7 เท่านั้นที่ยังปลอดภัยแต่ก็เริ่มมีสีซีดจาง



หากเทียบกับปี 2553 ที่เคยเกิดปรากกฏการณ์นี้รุนแรงครั้งใหญ่ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียปะการังมากที่สุดมาแล้ว และปีนี้ก็เสี่ยงที่จะรุนแรงมากกว่าเดิม โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่น่ากังวล



นักวิจัยระบุว่า ปัจจัยแรกที่ทำให้โลกเผชิญกับอุณหภูมิที่ผิดปกติมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ร่วมด้วยปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ



ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ด้านสภาพอากาศที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้น แม้เอลนีโญจะเริ่มบรรเทาลงในเดือนที่แล้ว แต่อุณหภูมิบริเวณพื้นผิวทะเลยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ยังสูงผิดปกติ



ที่โรงเพาะพันธุ์ ภายในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เก็บตัวอย่างปะการังที่พบในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ กว่า 40 ชนิด หญ้าทะเล ป่าโกงกาง และสัตว์น้ำหายากบางส่วน เพื่อเพาะขยายพันธุ์ และ เป็นธนาคารสัตว์น้ำ ของภาคตะวันออก ก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล ซึ่งจะศึกษาทั้งคุณภาพน้ำ อุณหภูมิ และแสง เพื่อเหมาะแก่การอยู่อาศัยและสืบพันธุ์



นอกจากนี้ที่นี่ยังมีพันธุ์หญ้าทะเลที่สำคัญและป่าโกงกาง ซึ่งถูกนำมาเพาะพันธุ์ไว้ โดย ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล อธิบายว่า ทรัพยากรเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับบลูคาร์บอน ที่กักเก็บไว้ในมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งช่วยการดักจับอินทรีคาร์บอนลงสู่ผิวดิน แม้ทรัพยากรเหล่านี้จะถูกสำรองไว้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับทรัพยากรที่สูญเสียไป และเวลาที่ต้องใช้ฟื้นฟู



แม้ปัจจุบันแนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ เพื่อสร้างกรีนคาร์บอนกำลังถูกมองว่าเป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่การสร้างบลูคาร์บอนในท้องทะเลก็สำคัญไม่แพ้กัน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร

คุณอาจสนใจ

Related News