สังคม

ย้อนรอยประติมากรรม 'โกลเด้นบอย-สตรีพนมมือ' หลังถูกลอบนำออกประเทศไทยกว่า 40 ปี

โดย parichat_p

21 พ.ค. 2567

321 views

เวลากว่า 40 ปี ในที่สุด ไทยก็ได้รับประติมากรรมสำริด รูปพระศิวะ หรือ โกลเด้นบอย กับ รูปสตรีพนมมือ กลับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมโทรโพลิทัน สู่ประเทศไทย หลังถูกลักลอบนำออกนอกประเทศ และไปจัดแสดงอยู่ที่ดังกล่าว โดยวันนี้ได้มีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการ ข่าว 3 มิติ ได้พูดคุยกับ 1 ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทย จากต่างประเทศ ถึงกระบวนการสืบข้อเท็จจริงจนได้มาซึ่งหลักฐานยืนยันการปรากฎอยู่ที่บ้านยางโป่งสะเดา ในอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์


นี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองรูปพระศิวะ หรือ โกลเด้นบอย ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิประเทศไทย มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


ร่วมกับประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ที่ถูกส่งกลับคืนพร้อมกันจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมโทรโพลิทัน หรือ เดอะเมท ประเทศสหรัฐอเมริกา


หลังทางพิพิธภัณฑืสืบทราบว่า โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นนี้ถูกลักลอบ นำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้ถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ และประสานขอส่งคืนให้ประเทศไทย เพื่อแสดงว่าทางเดอะเมท ให้ความสำคัญกับที่มา อันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง


ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 1 ในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เล่าว่า การติดตามเบาะแสของโกลเด้นบอย เริ่มขึ้นจากเบาะแสเดียวที่


ระบุอยู่ในหนังสือขแมร์บอนด์ และ ขแมร์โกล์ ของดักลาส แลตช์ฟอร์ด ว่าโกลเด้นบอย ถูกนายหน้าค้าโบราณวัตถุนำออกนอกประเทศไทย หลังการขุดพบที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเพียงคำว่า ละหาน และ บ้านยาง อยู่ในพิกัดเท่านั้น


นำมาสู่การสืบค้นทางโบราณคดีเป็นเวลากว่า 3 ปี จนทราบตำแหน่งที่แน่ชัดว่าโกลเด้นบอยเคยอยู่ที่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์มาก่อน กระทั่งพบกับชาวบ้านที่เป็นคนเจอวัตถุโบราณชิ้นนี้ จึงพาทีมสำรวจไปดูร่องรอยของฐานประติมากรรมดังกล่าว



ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลานสาธารณะของชุมชนไปแล้ว เหลือเพียงฐานศิลาเป็นเครื่องยืนยันหลักฐานความเป็นโบราณสถานที่ปรากฎอยู่เท่านั้นในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา


การค้นพบประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอยในครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของอาณาจักรเขมรโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง


เพราะจากลักษณะของรูปหล่อที่เหมือนกับรูปสลักของปราสาทหินพิมายจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม่เหมือนพระศิวะตามที่คาดกันไว้ แต่คาดว่าเป็นรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่มีความเกี่ยวข้องกันกับราชวงศ์มหิธรปุระ


จึงสันนิษฐานได้ว่า การปกครองในสมัยนั้นได้แผ่อำนาจการปกครองจากที่ราบสูงโคราชไปทางฝั่งเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาในภายหลัง ตามหลักฐานอีก 1 ชุดที่เป็นประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย อายุราว พ.ศ.1300 อยู่ห่างจากจุดที่พบโกลเด้นบอยไม่ถึง 10 กิโลเมตร


กรมศิลปากรได้รับการติดต่อจากเดอะเม็ท มาในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 และนำมาสู่การส่งมอบในครั้งนี้ โดยยังมีอีก 1 เบาะแสที่รอการพิสูจน์ทราบ เพราะขณะขุดค้นเจอ โกลเด้น บอย มีคำบอกเล่าว่ามีอัญมณีสำคัญประดับอยู่ด้วย


นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ส่วนตัวไม่ปฏิเสธคำบอกเล่า แต่ข้อมูลเท็จจริงจากการตรวจสอบขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานเนื่องจากเวลาล่วงเลยมานาน ดังนั้นจึงขอยึดข้อเท็จจริงขณะนี้ก่อน โดยหลังจากนี้กรมศิลปากรจะตรวจสอบด้วยกระบวนทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นต่อไป


โกลเด้นบอยเป็นประติมากรรมสำริดในศิลปะสมัยลพบุรี หรือเขมรในประเทศไทย มีอายุประมาณ 1,000 ปี คาดว่าสร้างในช่วงพุทธศษตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพของกษัตริย์ ซึ่งสำหรับประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือก็คาดว่าจะเป็นศิลปะฝืมือช่างสกุลเดียวกันและหล่อขึ้นในเวลาห่างกันไม่มากนัก โดยยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News