สังคม

ชาวบ้านสะท้อนปัญหา ร้องฟื้นฟูความสัมพันธ์คนในชุมชน หลังยุติกิจการเหมืองทองวังสะพุง

โดย panwilai_c

20 มี.ค. 2567

248 views

หลังจากเมื่อวานนี้ข่าว 3 มิติ นำเสนอประเด็นข่าวผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ของบริษัททุ่งคำ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่แม้จะเลิกกิจการไปเพราะถูกฟ้องล้มละลาย และถูกชาวบ้านฟ้องคดีจนฝ่ายชาวบ้านชนะ แต่การฟื้นฟูยังล่าช้า



ล่าสุดมีความเห็นจากคนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่ต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เหมืองทองเริ่มเกิดขึ้น โดยเห็นว่าแนวทางที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ คือฟื้นฟูสัมพันธภาพคนในชุมชนที่เคยแตกแยก และฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการที่ถูกเหมืองทอง ละเมิดมาหลายปี และเมื่อการฟื้นฟูด้านเหล่านี้คืบหน้า การฟื้นฟูธรรมชาติก็จะเดินหน้าควบคู่ไปด้วยกันง่ายขึ้น



ลำห้วยเหล็ก ที่ชาวบ้านอย่างน้อย 6 หมู่บ้าน ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ใช้ประโยชน์ร่วมกัน กลายเป็นสายน้ำที่ไม่มีชีวิต เพราะไม่สามารถดื่มกินได้แล้ว และต่อให้ปลูกข้าวก็ยังลำบาก เพราะปนเปื้อนไปด้วยไซยาไนด์และสารเคมีหลายชนิด ในขั้นตอนการทำเหมืองทองที่แม้จะเลิกกิจการไปแต่ผลกระทบยังอยู่



สาเหตุที่ลำห้วยเหล็กปนเปื้อน เป็นเพราะบ่อเก็บกากแร่ ที่ผ่านขั้นตอนถลุงแร่มาและปนเปื้อน กับไซยาไนด์และสารเคมีอื่นอย่างเข้มข้นมาแล้ว ถูกนำมาเก็บในบ่อนี้ ที่นี่ ชาวบ้านเคยร้องเรียนต่อสู้ว่า เหตุใดบ่อที่เก็บกากแร่ ซึ่งปนเปื้อนสารเคมีมาแล้ว จึงไม่มีพลาสติกหรือผ้าใบหรือวัสดุอื่นใดปูพื้นป้องกันรั่วซึม แต่กับเทลงกับพื้นดิน ซึ่งเห็นต้นน้ำของลำห้วยเหล็ก



แม้ข้อถกเถียงของชาวบ้านจะเป็นฝ่ายถูก แต่เหมืองทองก็ไม่ได้รับฟังไม่ได้แก้ไข ท้ายที่สุดร่องห้วยเหล็กก็ถุกประกาศห้ามใช้เพราะการปนเปื้อนรุนแรง



ร่องน้ำ ร่องนาดินดำ ก็เช่นกัน เป็นร่องน้ำที่เชื่อมต่อมาจากพื้นที่ของเหมืองทอง ถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีจากกิจการ จนน้ำมีสีแดงขุ่น บ่งชี้การปนเปื้อนตรงกับ ผลการตวจวัดคุณภาพน้ำว่ามีสารเคมีเจือปน



สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ผลกระทบของสารเคมีจากเหมืองทองที่ทิ้งไว้ นี่ยังไม่นับว่า ขั้นตอนการรื้อย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรที่เคยใช้ในการถลุงสินแร่ โดยบริษัทที่ชนะการประมูลซื้อไปได้นั้น ขั้นตอนรื้อย้ายดังกล่าวถูกต้อง ตามหลักความปลอดภัยหรือไม่ เพราะเครื่องมือเปล่านี้ล้วนแต่ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายทั้งนั้น ยิ่งการเข้าไปสัมผัสกับผงสินแร่ที่เจือหรือคลุกกับไซยาไนด์โดยตรง ยิ่งเสี่ยงอันตรายหรือไม่



นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิ์มนุษยชนและอดีตสมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตุว่า แม้ขณะนี้ชาวบ้านฟ้องชนะคดีและศาลสั่งให้ฟื้นฟู แต่ความชัดเจนยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะหากภาครัฐคิดแต่จะฟื้นฟูในกรอบความรับผิดชอบของหน่วยงานตัวเองโดยไม่คำนึงความเห็นชาวบ้านก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะสำเร็จได้



ขณะที่บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ถอดประสบการณ์การฟื้นฟูเหมืองหลายแห่งในต่างประเทศว่า การฟื้นฟูที่เห็นผล ต้องเริ่มจากฟื้นฟูคนรอบๆเหมืองๆที่ได้รับผลกระทบ ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ให้กลับมามีศักดิ์ศรี ให้คนในพื้นที่มีส่วมร่วมที่แท้จริง จากนั้นจะเอาชนะอุปสรรคอื่นๆได้



ชาวบ้านตั้งเป้าว่า การฟื้นฟู ต้องไม่ใช่แค่เพียงในพื้นที่เหมืองทองที่เลิกไป แต่ต้องรวมไปถึงพื้นที่รอยต่อและรอบนอกเหมืองที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมถึงศักดิ์ศรีและสิทธิ์ชุมชนที่ถูกละเมิดไปตลอดห้วงเวลาการทำกิจการของเหมืองนี้ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News