สังคม

ย้อนรอยที่ดินกว่า 3 หมื่นไร่ ส.ป.ก.-เขาใหญ่ ก่อนกลายเป็นปมพิพาท

โดย panwilai_c

27 ก.พ. 2567

130 views

ผลการสำรวจแนวเขตพิพาทจากกรมแผนที่ทหาร ที่รายงานต่อนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการยืนยันว่า แปลงที่ออก ส.ป.ก. 4-01 จนเกิดพิพาทกัน จะอยู่ในเขต ส.ป.ก.เท่านั้น แต่นั่นก็เท่ากับว่าตลอดแนวถนนป่าไม้ลำลอง หรือถนนที่อุทยานฯใช้เป็นแนวตรวจการณ์ ซึ่งสร้างปี ปี 2538 เป็นต้นมา และถัดจากแนวถนนนั้นเข้ามา ก็ไม่ใช่แนวเขตอุทยานฯเขาใหญ่ แต่เป็นเขต ส.ป.ก. จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีหรือความเห็นจากกรมอุทยานฯออกมา



แต่ข่าว 3 มิติ ได้สืบค้นเอกสารบางส่วน เพื่อหาคำตอบว่า พื้นที่ดังกล่าวกว่า 3 หมื่นไร่ ถูกจำแนกออกไป เพื่อเป็นพื้นที่ให้ราษฎรทำกินนั้น มีที่มาอย่างไร



ปัญหาราษฎรทำกินใกล้แนวเขตป่าและบางพื้นที่รุกล้ำเข้ามาในเขตป่า ทำให้ปี 2502 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้จำแนกที่ดินในประเทศไทยออกเป็น ที่ดินที่สงวนไว้เป็นเขตป่าไม้กับที่ดินที่จะนำไปจัดสรรให้ราษฎรทำกิน ตามคำแนะนำของ FAO ที่มีมาตั้งแต่ปี 2493 โดยให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มอบให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการ



กระทั่ง 14 พฤษภาคม 2504 ครม. เห็นชอบผลการจำแนกดังกล่าว ที่จำแนกเป็นพื้นที่ป่าที่จะสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติถาวร ซึ่งเรียกสั้นๆว่า ป่าไม้ถาวรฯ ขณะนั้นได้ 171 ล้านไร่ จำแนกเป็นที่จัดสรรให้ราษฎรทำกิน 31 ล้านไร่ พร้อมกับจำแนกเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ 219,375 ไร่



ต่อมา 18 กันยายน 2505 มีประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตอุทยานฯแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งข้อมูลนี้ระบุว่า ทับซ้อนกับป่าไม้ถาวรเขาใหญ่ด้วย ขณะที่ปี 12 พฤศจิกายน 2506 ครม. เห็นชอบแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ ตามความเห็นคณะกรรมการจำแนกประเภทที่ดิน ครั้งที่ 11/2505 ที่เห็นชอบเนื้อที่ไว้ 219,375



อย่างไรก็ตาม ปี 2527 คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน มีมติให้จำแนกเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่อีก เหลือพื้นที่ ที่ไม่ทับซ้อน ให้จำแนกเป็นที่ดินทำกิน มอบให้กระทรวงเกษตรฯ โดย สปก. นำไปให้ราษฎรทำกิน 33,896 ไร่ และคงไว้เป็นป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่กันชน 3,729 ไร่



กระทั่ง 3 มีนาคม 2530 ครม. มีมติให้ สปก.รับที่ดิน 33,896 ไร่ ไปดำเนินการปฏิรูป และคงไว้เป็นพื้นที่กันชนอีก 3,729 ไร่ จากข้อมูลดังกล่าว เทียบกับแผนที่ 1 ต่อ 5 หมื่น จะเห็นว่าแปลง ที่สปก.รับมาอยู่ในกรอบสีเหลือง ส่วนที่แนวเขตอุทยานฯอยู่ใต้แนวกรอบสีเหลืองนั้นลงมา เขียนว่าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่



อย่างไรก็ตาม ในกรอบเส้นสีเหลืองอ่อนตามแผนที่นี้ ที่ถือว่าเป็นเขต สปก.นั้น มีรูปแปลงที่เขียนขึ้นใหม่ด้วยสีน้ำเงิน คือแปลงที่พิพาท ที่สปก.ออกเอกสารสิทธิ์แล้ว และที่รังวัด แล้ว เฉพาะตามแนวนี้ 59 แปลง และหากยึดตามแผนที่นี้ แปลงพิพาทก็จะอยู่นอกเขตอุทยานฯ



การลงพื้นที่ของข่าว 3 มิติก่อนหน้านี้ได้ข้อมูลบางส่วนว่า หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ ส.ป.ก.มีนโยบายจะแจกจ่ายที่ส.ป.ก.ให้ราษฎรทำกินนั้น คนในพื้นที่ไม่อยากได้เพราะไม่มีโอกาสแปลงเป็นโฉนด แตกต่างจาก เอกสารนค. หรือนิคม ที่อยู่ในพื้นที่จะมีโอกาสเป็น นส.3 และเป็นโฉนดได้ ทำให้ผู้คนไม่อยากได้ส.ป.ก.มากนัก นั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งเหตุใดแปลง ส.ป.ก.จึงฟื้นตัวเป็นป่า



นอกจากนี้ ข้อมูลและการอ้างอิงของร้อยเอกธรรมนัส ว่ามีการทำถนนตรวจการณ์ในปี 2538 ตามแนวเขตที่่คาบเกี่ยวกับระหว่างอุทยานเขาใหญ่ จนเชื่อได้ว่ารุกล้ำเข้ามา ในเขต ส.ป.ก.ตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจาก ขณะนั้น ทั้งส.ป.ก.และอุทยานฯ อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรด้วยกัน ทำให้ไม่มีการโต้แย้ง และราษฎรก็ไม่เข้ามาทำกินในแปลงดังกล่าว จนทำให้สภาพป่ายังสมบูรณ์ แต่ ส.ป.ก.ก็ยังยึดถือว่านี่คือแปลงที่ส.ป.ก.ได้รับจัดสรรมาแล้ว



อย่างไรก็ตาม แม้ข้อพิพาทได้แนวทางว่า แปลงนี้เป็นส.ป.ก. แต่ขั้นตอนออกรังวัดและให้เอกสารดังกล่าว ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่



รวมถึงประเด็นว่าการที่มีนโยบายให้เป็นป่ากันชน ของ ส.ป.ก.นั้น ส.ป.ก.จะรักษาสภาพป่านี้ให้คงสภาพเป็นป่าได้อีกหรือไม่ หากเทียบกับการที่อุทยานฯเขาใหญ่ไว้ได้ ตามที่อุทยานฯยึดถือแผนที่อุทยานฯเอง รวมถึงกรณีนี้ ที่เป็นป่าอยู่แล้วยังถูกแผ้วถางเพิ่มอีก ในอนาคตจะเกิดกรณีรุกป่าบัฟโซนอีกหรือไม่ กรณีนี้จึงยังเป็นคำถามอีกเช่นกัน

คุณอาจสนใจ

Related News