อาชญากรรม

จับมิจฉาชีพ อ้างโครงการหลวงหลอกประชาชนร่วมลงทุน เสียหายกว่า 269 ล้านบาท

โดย kanyapak_w

30 ม.ค. 2567

992 views

ตำรวจ ปอศ. จับมิจฉาชีพ อ้างโครงการหลวงหลอกประชาชนร่วมลงทุน เสียหายกว่า 269 ล้านบาท อุปโลกน์เปิดบริษัทฟอกเงินบังหน้า



พลตำรวจตรีพุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์ รุจยารักษ์ อาภากร กรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ แถลงการจับกุมนายจารุเดช หรือเสกสรร อายุ 41 ปี และนางชยาวรรณ อายุ 60 ปี พร้อมพวกรวม 6 คน แอบอ้างโครงการหลวงพบเงินหมุนเวียนกว่า 269 ล้านบาท ในฐานความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน"



โดยตำรวจสามารถจับกุมขณะเข้าตรวจค้นได้ในจังหวัดกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งหมด 7 จุด พร้อมกับตรวจยึดของกลางกว่า 100 รายการ ประกอบด้วยรถยนต์หรู คอมพิวเตอร์ สมุดบัญชี กระเป๋าแบรนด์ นาฬิกา แหวนเพชร โฉนดที่ดิน รวมมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท



โดยพฤติการณ์ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจไปสืบสวนพบว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 นางชยาวรรณได้แอบอ้างว่าเป็นประธานโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ โดยจะมีหน้าที่ถือสมุดบัญชีบริหารโครงการต่างๆ รวม 28 โครงการ



จากนั้นนางชยาวรรณได้มีการชักชวนประชาชน เข้าร่วมลงทุนในโครงการหลวง โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมกับชักชวนให้ลงทุน โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 75,000 - 100,000 บาท เพื่อรับผลประโยชน์ 13 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ ในระยะเวลาหนึ่งปี และหลังจากนั้นจะได้รับเงินจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานละหนึ่ง 1,000,000 บาท รวม 50 หน่วยงาน เป็นเงิน 50 ล้านบาท



นอกจากนี้ ยังได้มีการชักชวนสมาชิก ปลดล็อกระบบเงินในบัญชีที่จะได้ผลตอบแทน เช่นลงทุน 10,000 บาทจะได้รับผลตอบแทน 4,000,000 บาท โดยได้มีการชักชวนผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายรวม 8 ราย ที่ร่วมลงทุนเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 787,090.34 บาท อีกทั้งยังมีโครงการหนึ่งบัตรประชาชนจะได้ 1,000,000 บาท แต่ประชาชนจะต้องโอนเงินเพื่อสมัครเป็นสมาชิกคนละ 750 บาท



ต่อมาผู้เสียหายได้มีการสอบถามไปยังกลุ่มผู้ต้องหา แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงและไม่สามารถตอบคำถามได้จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง และได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ



จากการสอบสวนพบว่าพฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องหามีลักษณะในการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนายจารุเดช หรือเสกสรร จะเป็นผู้บงการและอยู่เบื้องหลังที่ได้รับผลประโยชน์ โดยจะสั่งให้นางชยาวรรณ ซึ่งอดีตเป็นพนักงานประกันภัยแห่งหนึ่ง อ้างตนว่าเป็นนายใหญ่ เป็นผู้กำกับดูแลและประสานงานกับมูลนิธิ และทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อก่อนชักชวนเข้ากลุ่มไลน์ อาทิ กลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง, โครงการในดวงใจ, หัวใจพระราชา เป็นต้น โดยพบว่ามีผู้เสียหายในกลุ่มสมาชิกรายกว่า 900 ราย เป็นเงินกว่า 269 ล้านบาท



ซึ่งนางชยาวรรณ จะใช้บัญชีของตนเองในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย ก่อนจะโอนไปยังบัญชีของนางไก่แก้ว 1 ใน 6 ผู้ต้องหา จากนั้นก็จะโอนเงินไปยังบัญชีของนายจารุเดช ก่อนโอนต่อกระจายไปยังบัญชีบริษัทที่นายจารุเดชเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งมีทั้งบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ ผลิตสื่อมีเดีย บริษัทเพลง และบริษัทผลิตเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง รวม 4 บริษัท ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน ตำรวจจึงจะต้องดำเนินการขยายผลเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาเพิ่มเติม



โดยพลตำรวจตรีพุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. บอกว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีประวัติเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดค้างเก่า หรือเกี่ยวข้องกับคดีอื่นๆ ส่วนบริษัทที่เปิดขึ้นมาทั้ง 4 บริษัท ไม่ได้มีการดำเนินการจริง



ซึ่งตำรวจเองก็ต้องขยายผลกับผู้เสียหายกว่า 900 คน ที่จะหาความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้ต้องหาทั้งหมด



ด้านหม่อมราชวงศ์ รุจยารักษ์ อาภากร กรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ยืนยันว่ามูลนิธิเป็นองค์กรสาธารณะในการทำกิจกรรมการกุศลไม่ได้ดำเนินงานที่มีผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะจัดร่วมกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา มักจะมีกลุ่มการมิจฉาชีพ หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อ โดยยืนยันว่ามูลนิธิไม่มีนโยบายเรียกหรือระดมผลประโยชน์จากประชาชนแต่อย่างใด





คุณอาจสนใจ

Related News