สังคม

ตร.สรุปสำนวนส่งอัยการอีกครั้ง คดีริบรถบรรทุกหนักเกิน 10 กก. หลังเจ้าของพบหลักฐานหนักไม่เกิน

โดย panwilai_c

29 พ.ย. 2566

191 views

ข่าว 3 มิติ ยังตามต่อกรณีเจ้าของรถบรรทุกร้องเรียนถูกตำรวจภูธรโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ จับและยึดรถเพราะบรรทุกน้ำหนักเกินเพียง 10 กิโลกรัม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้ผ่านด่านชั่งน้ำหนักของกรมทางหลวงมาแล้วถึง 2 ด่าน



ต่อมาตำรวจสรุปสำนวนส่งอัยการและสั่งฟ้อง แต่เจ้าของรถบรรทุกปฎิเสธในชั้นศาล ศาลจึงสั่งให้ตำรวจสรุปสำนวนคดีใหม่ โดยได้หลักฐานเพิ่มเติมคือบันทึกสัญญาณจีพีเอสและรายงานผ่านด่านชั่งน้ำหนักซึ่งยืนยันได้ว่ารถไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกิน เจ้าของรถจึงร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจโดยเฉพาะการเจรจาจ่ายเงิน 1 หมื่นบาท ที่อ้างว่าเป็นค่าเสียเวลาเพื่อนขอจบเรื่องนี้



ล่าสุดตำรวจภูธรโนนดินแดงสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการอีกครั้ง ท่ามกลางข้อสงสัยหลายอย่างที่ยังไม่มีคำตอบ



นายสุพร สำราญดี เจ้าของรถบรรทุกที่ถูกจับยึดรถเพราะบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 10 กิโลกรัม มารายตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดนางรอง หลังจากตำรวจภูธรโนนดินแดงสรุปสำนวนคดี ฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดมาใช้บนทางหลวง



ย้อนกลับไปวันที่ 5 พฤศจิกายน นายสุพรขับรถบรรทุกขี้เลื่อยจากจังหวัดระยองไปส่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างทางถูกตำรวจเรียกตรวจสอบน้ำหนัก โดยไปชั่งที่ลานรับซื้อมันแห่งหนึ่ง ได้น้ำหนัก 50,510 กิโลกรัม เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไป 10 กิโลกรัม



นายสุพร ยืนยันว่าไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกินเพราะได้ผ่านด่านของกรมทางหลวงมาแล้ว 2 แห่ง คือด่านพนัสนิคม และด่านวัฒนานคร แต่ตำรวจยึดตามน้ำที่ชั่งได้จากลานรับซื้อมันจึงดำเนินคดีและยึดรถไว้



ต่อมานายสุพรร้องเรียนเรื่องนี้กับสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและนายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ผู้แทนพรรคก้าวไกล เพราะมีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น มีการเจรจาให้ความช่วยเหลือระหว่างถูกจับ มีบุคคลคล้ายตำรวจนำเงินมาจ่ายให้ 1 หมื่นบาทอ้างว่าเป็นค่าเสียเวลา จนเรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมานาคมเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาส่วยทางหลวงอย่างจริงจัง



ข่าว 3 มิติ ลงพื้นที่เพื่อหาคำตอบในประเด็นที่ยังเป็นข้อสงสัย จุดแรกคือสถานีตำรวจภูธรโนนดินแดง ที่มีบุคคลปริศนาจ่ายเงิน 1 หมื่นบาทให้นายสุพร



พันตำรวจเอกอนุการ ธรรมวิจารณ์ ผู้กำกับการปฎิเสธชี้แจงข้อสงสัยคดีนี้ เพราะสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการไปแล้ว



จุดที่สองคือลานรับซื้อมันบ้านคลองหิน ที่ตำรวจนำรถบรรทุกไปชั่งน้ำหนักและพบว่าเกินมา 10 กิโลกรัม โดยวันเกิดเหตุนายสุพรขอไปชั่งอีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องชั่งช่วงยาวแต่ถูกตำรวจปฎิเสธ



ข้อมูลจากสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต 2-5 สุรินทร์ ระบุว่าเครื่องชั่งจะต้องตรวจสอบทุกๆ 2 ปี ซึ่งลานรับซื้อมันแห่งนี้ผ่านการรับรองไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แต่อย่างไรก็ตามเครื่องชั่งทุกตัวมีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนได้แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด



หลักฐานที่นายสุพรหามาเพิ่มเติมและส่งให้ตำรวจใส่ในสำนวนคดี คือผลชั่งน้ำหนักที่ด่านวัฒนานคร และรายงานสัญญาณจีพีเอสของรถบรรทุก ที่ยืนยันได้ว่าไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกินก่อนถูกตำรวจภูธรโนนดินแดงเรียกตรวจ ซึ่งหากท้ายที่สุดพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็พร้อมจะดำเนินคดีกับตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับตัวเอง



คดีนี้อาจเป็นตัวอย่าง หรือ "โนนดินแดงโมเดล" ที่นำไปสู่การผลักดันเพื่อแก้ไขกฎหมาย หรือประกาศของกระทรวงคมนาคม ให้การพิจารณาบทลงโทษเหมาะสมกับการกระทำความผิด และไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ให้ตัวเองได้

คุณอาจสนใจ

Related News