สังคม

'องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ' รณรงค์หยุดเชื้อดื้อยาในฟาร์มปศุสัตว์ พร้อมนำเสนอข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรีย

โดย parichat_p

12 พ.ย. 2566

113 views

เชื้อดื้อยากลายมาเป็นภัยเงียบในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ หลังผลสำรวจจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มากถึงปีละ 38,000 คน และพบเชื้อนี้ในแหล่งน้ำสาธารณะใกล้กับพื้นที่ฟาร์มสัตว์หลายแห่ง ทางองค์กรจึงร่วมกับเครือข่ายจัดเวทีเสวนาให้ความรู้และกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ของชุมชน โดยนำร่องที่แม่น้ำบางปะกง ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรก เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐยกระดับมาตรฐานการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคโดยไม่จำเป็น


องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย จัดเวทีเสวนาหยุดเชื้อดื้อยาพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม นำเสนอข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายจากเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา และภาคประชาชนเข้าร่วม


ที่ผ่านมาปัญหานี้ทำให้เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มสัตว์ฟาร์มมีความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น จนอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ต้องหันไปใช้ยาตัวอื่นแทน ซึ่งเป็นยาที่แรงเกินความจำเป็น


ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเดือนตุลาคม 2566 พบเชื้อนี้ในแหล่งน้ำสาธารณะและบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรม เช่น ฟาร์มสุกร และ ไก่ ในจังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และนครปฐม ซึ่งมีจำนวนไม่ต่างจากเมื่อ 4 ปี ที่แล้ว


เชื้อส่วนใหญ่ที่พบ เป็นเชื้อ E.coli และ เคลบซิลลา มักอยู่ในกลุ่มยาที่นิยมใช้ในฟาร์มอุตาหกรรม เช่น แอมพลิซิลิน / อะมอกซิลลิน คลาวูลาเนต และ เตตระไซคลีน ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ต่างๆ หากผู้ป่วยได้รับเชื้อดื้อยา และ เจ็บป่วย ก็อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล โดยปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละกว่า 38000 คน และ ติดเชื้อปีละกว่า 88,000 ครั้ง แต่ละครั้งระยะเวลาการรักษาก็ถูกยืดออกไปรวมกันเฉลี่ยเกินคนละมากกว่า 1 เดือน


นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาด้านจุลชีพ ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเชื้อดื้อยาจากฟาร์มปศุสัตว์มักเกิดขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก และมักใช้ยารักษาแบบเหมารวม จนสัตว์ที่ปกติดื้อยาไปด้วย สุดท้ายเชื้อนี้ก็จะปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม ผ่านมูลสัตว์ และ เนื้อสัตว์ที่นำมาบริโภค


องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงร่างข้อเสนอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางนโยบายยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อเสริมสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มตามหลักสากล พร้อมการควบคุมและบังคับใช้กฎมหายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อการป้องกันโรคโดยไม่จำเป็นอย่างเข้มงวดโดยเร่งด่วน


องค์กรพิทักษ์สัตว์จึงจัดกิจกรรมบึ๊ดจ้ำบึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม รณรงค์การหยุดเชื้อดื้อยา ซึ่งจะจัดขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ในแม่น้ำสายหลักทางภาคกลาง เริ่มที่แม่น้ำบางปะกง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา / แม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดกรุงเทพมหานคร

คุณอาจสนใจ

Related News