สังคม
ทูตสหรัฐฯ โต้ข่าวแทรกแซงเลือกตั้งไทย ยันไม่ได้หนุนพรรคการเมืองใด ย้ำรอทำงานร่วมรัฐบาลชุดใหม่
โดย chiwatthanai_t
27 มิ.ย. 2566
66 views
เอกอัครราชทูตสรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดเสวนาโต๊ะกลม ตอบคำถามสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งมาเป็นเวลา 9 เดือน โดยประเด็นสำคัญนอกจากการย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ยาวนานมาถึง 190 ปี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้แสดงความยินดีกับการเลือกตั้งของไทย และยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซงหรือสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด และไม่มีทฤษฎีสมคบคิดอย่างที่มีข่าวลือ
นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดเสวนาโต๊ะกลมร่วมกับสื่อมวลชนไทย เป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นเวลา 9 เดือน โดยประเด็นสำคัญที่ถูกซักถามมากที่สุด กรณีมีข่าวว่า สหรัฐฯแทรกแซงการเลือกตั้งของไทย
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยืนยันว่า ข่าวลือทฤษฎีสมคบคิด ไม่เป็นความจริง สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด รวมถึงพรรคก้าวไกล แต่สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย ส่วนผลการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามเสียงข้างมากหรือไม่ ก็เป็นไปตามความเห็นของเจ้าหน้าที่ไทยตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ขออกความเห็นในเรื่องนี้ รวมถึงหากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วจะผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ก็เป็นการตัดสินใจของปวงชนชาวไทย ซึ่งสหรัฐฯให้ความเคารพ ยกย่อง และเข้าใจความเคารพของคนไทยต่อราชวงศ์ และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคใด สหรัฐฯ พร้อมทำงานร่วมกับทุกรัฐบาล เหมือนความสัมพันธ์ที่ดำเนินมายาวนานถึง 190 ปี
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยืนยันด้วยว่า สหรัฐฯทำงานมากับทุกรัฐบาล รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยไปเยือนทำเนียบขาว และมีความร่วมมือทางด้านความมั่นคง สาธารณสุข และการศึกษา อย่างดีมาโดยตลอด ความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ จึงอยากเห็นความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก ล่าสุดมีการส่งออกส้มโอจากไทยไปสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารารณสุข อย่างที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวของหมอบรัดเลย์ แพทย์ชาวสหรัฐฯ ในละคร หมอหลวง ทางช่อง 3 ที่นำการผ่าตัดมาครั้งแรกในไทย
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยังตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงบทบาทประเทศไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งสหรัฐฯขอประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ล่าสุดมีการสู้รบตามแนวชายแดนไทยจนทำให้มีผู้อพยพมายังประเทศไทย ซึ่งสหรัฐฯได้หารือกับไทยในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาตามแนวชายแดนด้วย ส่วนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่รัฐบาลรักษาการณ์จัดขึ้นพูดคุยเรื่องเมียนมา ไทยไม่ได้จัดผ่านอาเซียน จึงอยากให้อาเซียนมีส่วนร่วมกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และในอนาคตอาจมีมาตรการอื่น เช่น มาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา เพิ่มความกดดันรัฐบาลทหารพม่า เพื่อยุติความรุนแรงเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ถูกกักขังอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เมียนมากลับสู่ประชาธิปไตย