สังคม

ตรวจที่ตั้ง 'ไอทีวี' หาความจริง ยังดำเนินกิจการสื่ออยู่หรือไม่?

โดย panwilai_c

8 มิ.ย. 2566

834 views

การตรวจสอบสถานะปัจจุบันของบริษัทไอทีวีกรณีที่มีการยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือหุ้นบริษัทไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็นประเด็นถูกจับตาว่าจะมีผลต่อการขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของนายพิธา หรือไม่ ซึ่งล่าสุดนายพิธา ออกมาชี้แจงว่าได้โอนหุ้นให้ทายาทอื่นไปแล้ว มั่นใจว่าก่อนโอนหุ้น บริษัท ไอทวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ



ข่าว 3 มิติได้ตรวจสอบข้อมูลการประกอบธุรกิจของบริษัทไอทีวี พบว่าล่าสุดมีการระบุสถานะยังดำเนินกิจการอยู่และเป็นธุรกิจสื่อโทรทัศน์ และตรวจสอบที่ตั้งปัจจุบันของบริษัท ไอทีวี พบว่าเป็นเพียงสำนักงานทั่วไป ที่ต้องติดตามด้วยว่ามีการประกอบการสื่อตามที่ระบุหรือไม่



จากข้อมูลที่ตั้งบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน ทั้งจาก เว็บไซต์ itv.co.th และเว็บไซต์ฐานข้อมูลธุรกิจ เช่น เว็บไซต์ Dataforthai และเว็บไซต์ Data.creden.co และ จากเว็บไซต์ Intouchcompany .com ระบุตรงกันว่า ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 87 อาคารเอ็มไทย ทวเวอร์ ชั้น 27 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร



เมื่อขึ้นไปยังชั้น 27 ของอาคาร พบว่า เป็นที่ตั้งของบริษัทอินทัช ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 75 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัทไอทีวี ทีมข่าว 3 มิติ ได้ขออนุญาตในการสอบถามข้อเท็จจริง พบว่า ที่ตั้งของบริษัทไอทีวี ตั้งอยู่ที่นี่จริง



จากข้อมูลในเว็บไซต์ Intouchcompany ระบุว่า บริษัทไอทีวี จำกัดมหาชน อยู่ในหมวดธุรกิจ ประกอบธุรกิจรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธุ์ทุกชนิดทุกประเภท ประเภทธุรกิจ ให้บริการทั่วไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับ ของบริษัท ทุนจดทะเบียน 7,800 ล้านบาท ข้อมูลบริษัทในเครือ มีบริษัทอาร์ตแวร์มีเดีย จำกัด ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆในเครือ



ในขณะที่เว็บไซต์ datafotthai ระบุว่า บริษัทไอทีวี จำกัดมหาชน ทำธุรกิจสื่อโทรทัศน์ หมวดธุรกิจ กิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนต์วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ จดทะเบียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2541 สถานะ ยังดำเนินกิจการอยู่ มีกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย นายคิมห์ สีริทวีชัย นายจิตชาย มุสกบุตร นายเมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส นางสาวธัญลักษณ์ บัวทอง และ นางรัตนาพร นามมนตรี พร้อมแสดงข้อมูลรายได้และกำไร ตั้งแต่ปี 2560-2564 เฉลี่ยประมาณ 20 ล้านบาทถึง 30 ล้านบาท



ขณะที่เว็บไซต์ Data.creden.co ระบุว่า บริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน ประกอบธุรกิจประเภท ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โดยให้บริการด้านกิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนต์วิดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ สถานภาพยังดำเนินกิจการอยู่ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 เป็นเวลา 24 ปี 7 เดือน 26 วัน ปีที่ส่งงบการเงิน ตั้งแต่ 2561-2565 รอบปิดบัญชีล่าสุด 31 ธันวคม วันที่ส่งงบ 10 พ.ค.2566 , วัตถุประสงค์ สื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นข้อมูลอัพเดท เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 มีแหล่งที่มาข้อมูลจากศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ data.go.th



สำหรับข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ ข่าว 3 มิติ พบว่า มีความแตกต่างจากข้อมูลที่เคยปรากฏก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ข่าว 3 มิติ ได้เคยเข้าค้นข้อมูล กรณีมีรายงานข่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาในคดีพิพาทระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับบริษัทไอทีวี ภายในเดือนมิถุนายนนี้



โดยพบว่า ข้อมูลก่อนหน้านั้น ระบุว่า บริษัทไอทีวี จำกัดมหาชน มีชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า ไอทีวี หมวดธุรกิจ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2552 หลักทรัพย์ ไอทีวี ได้ถูกย้ายหลักทรัพย์เข้าหมวด Non-performing Group-npg ที่ตั้งสำนักงาน เลขที่ 1010 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร ประเภทธุรกิจ เคยดำเนินธุรกิจด้านสถานทีวิทยุโทรศัพท์ระบบ UHF ภายใต้ชื่อ สถานีโทรทศัน์ไอทีวี จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ได้บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการของไอทีวี โดยให้มีผลบังคับทันที ปัจจุบันการบิกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานของ สปน.ยังเป็นประเด็นข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการในสถาบันอนุญาโตตุลาการ



จนพบข้อมูลปัจจุบันว่ามีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ ชั้น 27 ของอาาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ซึ่งจากภายนอกมีเพียงป้ายชื่อบริษัทอินทัช ไม่มีป้ายชื่อบริษัทไอทีวี ภายในเป็นลักษณะออฟฟิศสำนักงานทั่วไป ไม่พบลักษณะของการบริษัททีมีอุปกรณ์ในการผลิตรายการโทรทัศน์ เหมือนลักษณะสื่อที่ประกอบกิจการลักษณะนี้ เช่นที่ช่อง 3 จะมีกองบรรณธิการ มีแผนกตัดต่อภาพเป็นต้น



ประเด็นสำคัญที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือหุ้นในบริษัทไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ต้องพิสูจน์ว่า บริษัทไอทีวี เป็นสื่อ หรือไม่



ข้อเท็จจริงในสถานะของบริษัทไอทีวี ที่ล่าสุดระบุว่ายังดำเนินกิจการอยู่ และเป็นธุรกิจสื่อโทรทัศน์ จึงเป็นประเด็นที่จะกลายมาเป็นหลักฐานสำคัญว่า บริษัทไอทีวีมีการดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าเป็นเพียงผู้จัดการมรดก ได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจของไอทีวีหรือไม่ และการชี้แจงล่าสุดของนายพิธาว่าได้โอนหุ้นไอทีวีให้ทายาท และมั่นใจว่า ก่อนจะโอนหุ้น บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าจะมีกระบวนฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อของไอทีวีหรือไม่



การพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าบริษัทไอทีวี กลับมาดำเนินกิจการสื่อเมื่อใด จึงจะเป็นไทม์ไลน์สำคัญต่อการพิสูจน์การถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ด้วย ทั้งกรณีการประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 รวมถึงล่าสุดมีการเผยแพร่คำสั่งศาลปกครองสูงสุด งานคดีปกครองคำร้องที่ 19/2556 คำสั่งที่ 114/2556 มีคำวินิจฉัยกรณีนายวุฒิพร เดี่ยวพาณิช ถูกตัดชื่อออกการสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.เพราะเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทไอทีวี โดยศาลปกครองสูงสุดระบุว่า สปน.ได้บอกเลิกสัญญาการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 โดยส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว และไม่มีคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2552

คุณอาจสนใจ

Related News