สังคม

ภาคประชาสังคม จัดเวทีเสวนาเลือกตั้ง 66 ย้ำเตือนพรรคการเมือง ขับเคลื่อนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

โดย chiwatthanai_t

4 เม.ย. 2566

116 views

ภาคีเครือข่าย 16 องค์กรภาคประชาสังคมได้จัดเวทีเสวนา เลือกตั้ง 2566 ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม เพื่อย้ำเตือนให้แต่ละพรรคที่ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ลืมนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย พร้อมฝากคำถามที่สำคัญไปยังเหล่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งประกาศตัวกันไปในวันนี้


นี่เป็นคำถามบางส่วนจากตัวแทนภาคประชาสังคมที่ฝากถามไปยังแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทุกคน บนเวทีเสวนาเลือกตั้ง 2566 ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม ซึ่งบางคำถามก็ฝากตรงไปถึงแคนดิเดตบางคนเพื่อขอคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ


เวทีนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของภาคประชาสังคม 16 องค์กร เพื่อนำเสนอข้อแนะนำด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งเเวดล้อม ไปจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้พิการ ผู้ลี้ภัย และทุกคนที่อยู่ภายในประเทศไทย ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและสาธารณชน เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาสังคมได้จัดทำนโยบายเหล่านี้เสนอต่อผู้สมัครไปบ้างแล้ว เพื่อกระตุ้นให้ทางพรรคจัดทำนโยบายที่มาจากการรับฟังเสียงของประชาชนให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น


สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาเธอได้ทำวิจัยด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมานานหลายปี ทำให้พบว่าการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่กลไกด้านสิทธิมนุษยชนอ่อนแอ จนไร้จรรยาบรรณ จึงเสนอให้มีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนให้รอบด้านมากขึ้น


ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้หาเสียงหรือไม่ แต่หากไร้ซึ่งการรับรองในสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี นโยบายเหล่านั้นก็จะถูกฟอกเขียว สร้างความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มขึ้นไปแบบไม่สิ้นสุด


นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ Wefair ระบุว่า ประเทศไทยเกิดความเหลื่อมล้ำจากชนชั้นนำในระบอบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่จนทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ คนจนกว่า 4.4 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 2800 บาทต่อเดือน ขณะที่คนรวย 40 ตระกูล มีมูลค่าทรัพย์สินรวม กว่า 5 ล้านล้านบาท มีที่ดินรวมกว่า 6 แสนไร่ ด้านเด็กและเยาวชนก็หลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 1.2 ล้านคน แม้กระทั่งผู้สูงอายุและคนพิการก็ได้รับเบี้ยยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า


ขณะที่การเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา นายอธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงาก็สะท้อนว่า หน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ๋ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการให้สามารถลงคะแนนเสียงได้จริง


ด้านตัวแทนเยาวชน นายนัสรี พุ่มเกื้อ ก็ระบุว่า ตอนนี้สังคมไทยเหมือนไร้ความหวัง หลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษา หลายคนรู้สึกไม่มีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นความหวังให้ข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมสัมฤทธิ์ผล


ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า สิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หากอยู่อาศัยในประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงศักยภาพของผู้แทนประชาชนในการใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองด้านสิทธิและเสรีให้มากที่สุด โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบที่มักถูกจำกัดในช่วงที่ผ่านมา


ภาคประชาสังคมย้ำว่า การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เป็นโอกาสสำคัญให้ผู้สมัครทุกคนตระหนักถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพื่อยึดมั่นในหลักการสากลเหล่านี้ ซึ่งคำถามจากเวทีในวันนี้จะถูกถามไปยังแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะมาร่วมในเวทีที่ข่าว 3 มิติจัดขึ้นกับภาคประชาสังคมในวันที่ 20 เมษายนนี้ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

คุณอาจสนใจ

Related News