สังคม

ชาวสบเมยร่วมสืบชะตา 'แม่น้ำสาละวิน' ในวันหยุดเขื่อนโลก-กสม.เตรียมสรุปผลกระทบ 'ผันน้ำยวม' สิ้นเดือนนี้

โดย nut_p

14 มี.ค. 2566

94 views

เครือข่ายประชาชนร่วมพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน ในวันหยุดเขื่อนโลก แสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนและโครงการผันน้ำยวม ที่เห็นได้ชัดว่าผลจากการยุติโครงการเขื่อนฮัตจีในแม่น้ำสาละวิน ส่งผลให้ลุ่มน้ำสาละวินยังคงอุดมสมบูรณ์ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมสรุปรายงานผลกระทบต่อสิทธิชุมชนจากโครงการผันน้ำยวมภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้



แม่น้ำสาละวินยังคงไหลเป็นอิสระ กลายเป็นแม่น้ำไม่กี่แห่งในโลกที่ไม่มีเขื่อนกัน ในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม 2566 จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเมยและแม่น้ำเมย ที่เรียกว่า 'สบเมย' บ้านสบเมย ตำบลแม่สามแลบ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการสร้างเขื่อนในวันหยุดเขื่อนโลก ที่กำหนดขึ้นหลังการประชุมผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลกครั้งแรก ที่เมืองคูริทิบา ประเทศบราซิล เพราะอิสรภาพของแม่น้ำสาละวินยังคงอยู่ได้จากการปกป้องของเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน ไม่ให้มีการสร้างเขื่อนฮัจจี ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา



ชาวบ้านสบเมย ร่วมกันทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน และลอยแพไม้ไผ่พร้อมป้าย No Dam ไม่เอาเขื่อน ให้ลอยไปตามลำดำ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อน รวมถึงโครงการที่จะทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน โดยเฉพาะโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันน้ำยวม ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำสาละะวิน ผ่านแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา เพื่อไปช่วยแก้ภัยแล้งให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเป็นแหล่งพลังงานให้กลุ่มทุนสีเทาในอำเภแม่สอด จังหวัดตากด้วย



นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ยอมรับว่า ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสาละวิน ที่ทำให้ชาวบ้านยังมีปลา มีป่าไม้ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และมีทะเลหมอกกลอทูเลเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นบทพิสูจน์ว่า ที่นี่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการขนาดใหญ่ ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ก็เป็นชะตากรรมที่ผู้คนในลุ่มน้ำสาละวิน ต้องเผชิญกับความคาดหวังที่จะเห็นสันติภาพในพื้นที่ด้วย



เช่นเดียวกับ นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ อยากให้รักษาแม่น้ำสาละวิน ที่ยังไหลจากเทือกเขาหิมาลัยสู่ทะเลอันดามันโดยไม่มีเขื่อนกั้น การพัฒนาจึงต้องให้ความสำคัญแก่ชุมชนและผู้หญิงในการร่วมจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มเยาวชนได้ร่วมกันทำงานอย่างเข็มแข็งด้วย



นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกปีจะต้องมาจัดกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกที่แม่น้ำสาละวิน โดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ย้ำว่าประชาชนแม่น้ำโขงได้รับความเจ็บปวดจากเขื่อนมา 25 ปี จึงไม่อยากให้ประชาชนลุ่มน้ำสาละวินเผชิญชะตากรรมเดียวกัน



สำหรับการปกป้องแม่น้ำสาละวินจากโครงการผันน้ำยวม นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม.กำลังพิจาณาโครงการนี้ที่จะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ส่งผลกระทบกับสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ รวมถึงเอกชนที่ต้องทำธุรกิจภายใต้หลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่ต้องพิจารณาตามหลักสากล ซึ่งจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้



เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ยังร่วมจุดเทียนรำลึกแด่ จิตติมา ผลเสวก ศิลปินเพื่อชุมชน ที่อุทิศตนและงานศิลปะ ทั้งงานเขียน บทกวี ศิลปะแสดงสด สะท้อนปัญหาของชุมชน สังคม มาตลอดชีวิต 64 ปี ก่อนสิ้นลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอย กลุ่มมานิ กลุ่มชาวเล การคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ท่าเรือปากบารา และการต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ต่างก็เป็นหนึ่งในงานที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะของจิตติมา ผลเสวก ศิลปินผู้สร้างสรรค์พิธีกรรมของตนเองเพื่อขับเคลื่อนปัญหาสังคม

คุณอาจสนใจ

Related News