สังคม

UNHCR ห่วงผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมา เผยแนวโน้ม “ผู้ลี้ภัย” ทั่วโลกสูงกว่า 100 ล้านคน

โดย pattraporn_a

20 มิ.ย. 2565

91 views

UNHCR ห่วงแนวโน้มผู้ลี้ภัยทั่วโลกสูงกว่า 100 ล้านคน ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนไทย ห่วงผู้อพยพชาวเมียนมา เสนอรัฐจัดระบบคัดกรองให้ถูกประเภทกฎหมาย และการเข้าถึงทางมนุษยธรรม


วันผู้ลี้ภัยโลกปีนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ห่วงแนวโน้มผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยที่สูงกว่า 100 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วกว่า 27 ล้านคน รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ที่เป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศและที่อพยพลี้ภัยมายังประเทศไทย มีเกือบล้านคน ทั้งในพื้นที่ชายแดน และการอพยพในรูปแบบแรงงานข้ามชาติ ทำให้หลายหน่วยงานเสนอแนวทางจัดการให้กับรัฐไทย ทั้งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการจัดการเชิงนโยบายที่ต้องทบทวนกฏหมายและเจตจำนงที่มีต่อผู้ลี้ภัยใหม่


การแสดงสดของศิลปินชาวพม่าถ่ายทอดความสิ้นหวังของสันติภาพในเมียนมา ที่ถูกทำลายจากการัฐประหาร และการสู้รบที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา นำจากการัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้เกิดการประหัตประหาร ผู้ต่อต้าน ทั้งการถูกคุมขัง การกวาดล้าง และการสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆทั้งในประเทศ และชายแดนเมียนมา-ไทย กวาดล้างขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ตั้งกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ส่งผลให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่


โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ชายแดนแม่น้ำสาละวิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และชายแดนอำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอ อุ้งผาง จังหวัดตาก ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้อพยพทั้งจากรัฐกะเหรี่ยง และรัฐคะเรนนี เข้ามายังประเทศไทย กว่า 7 แสนคน หากนับร่วมในค่ายผู้อพยพ 9 แห่งตามชายแดนไทย ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมาก็เกือบล้านคน ที่รัฐไทยจะปฏิเสธการช่วยเหลือไม่ได้


งานเสวนา เพื่อนข้างบ้าน เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายผู้ลี้ภัย ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงชวนสร้างบทสนทนา ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นชายแดนไทย ซึ่งพรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เห็นว่า ผู้อพยพมายังประเทศไทย เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือทั้งข้อจำกัดที่ไม่ได้รับรองสถานะตามกฏหมายไทยจนกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง และเหยื่อการค้ามนุษย์ สะท้อนถึงการไม่มีแผนรองรับที่ดีของรัฐไทย รวมถึง UNHCR ที่ไม่มีการอำนวยความสะดวกให้คนเหล่านี้เดินทางไปประเทศที่ 3 ได้เหมือนในอดีตแล้ว


ในขณะที่ ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาวิชาการสร้างสันติภาพ สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติดภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เห็นว่าสิ่งสำคัญคือการตั้งโจทย์ให้ได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแบบไหนในปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งรัฐไทยต้องออกจากกรอบความคิดเดิม และเห็นด้วยกับข้อเสนอของ รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลีนิคกฎหมายแรงงานแม่สอด มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ที่เสนอว่ารัฐไทยต้องทำการคัดกรองกลุ่มผู้อพยพ ที่มีทั้งแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิง ผู้ประสบภัยทางการเมือง ผู้ประสบภัยตามแนวชายแดน และกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง ที่สุดท้ายกลับถูกจับกุมในความผิดเข้าเมืองผิดกฏหมาย


รัฐจึงควรร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ คัดกรองคนเหล่านี้เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแบบตรงจุด รวมถึงการจัดพื้นที่ปลอดภัยตามแนวชายแดน รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการ และตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางบริหารจัดการผู้อพยพ โดยเฉพาะกลุ่มในค่ายอพยพตามชายแดนที่อยู่มากว่า 40 ปี ควรถูกปลดล็อคให้ออกจากค่ายกักกัน มาเป็นพลเมืองรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่ผู้หนีภัยถาวรในค่ายพักพิงชั่วคราว เพราะแนวโน้มวิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก เห็นได้ชัดว่าโอกาสจะไปยังประเทศที่ 3 อาจเป็นไปยากขึ้น


ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยง ขอบคุณคนไทย รัฐบาลไทย และองค์กรระหว่างประเทศ ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาตลอด แต่กับสถานการณ์ล่าสุดหลายพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากเช่น เด็ก หญิงตั้งคภรรภ์ และผู้สูงอายุ ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข


ขณะที่รายงานของ UNHCR ห่วงสถิติผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่สูงกว่า 100 ล้านคน ซึ่งเพิ่มสูงจากปีที่แล้วมากวก่า 27 ล้านคน รวมถึงผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมา ที่ยังคงต้องการความร่วมมือจากประชาคมโลก ร่วมมือกันผลักดันไปสู่แนวทางสันติภาพที่ เชื่อว่าเป็นทางออกเดียวในการยุติวิกฤตผู้ลี้ภัย

คุณอาจสนใจ

Related News