สังคม

พรรคการเมืองขานรับ ผลักดันสร้างสันติภาพชายแดนใต้ หวังเห็นผลในรัฐบาลหน้า

โดย panwilai_c

26 ก.พ. 2566

44 views

พรรคการเมืองตอบรับข้อเสนอภาคประชาสังคม ผลักดันการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนโยบาลสำคัญสู่รัฐสภา พร้อมเสนอยกเลิกกฏหมายพิเศษที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งดำเนินมาครบ 10 ปีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ แต่ยังไม่มีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งใหม่ที่มีรัฐบาลประชาธิปไตย จะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง



การลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยโดยพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นแห่งชาติ กับนายฮัสซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพขบวนการ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย กลายเป็นปฐมบทแห่งกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้



ผ่านมา 10 ปี หลังการเปลี่ยนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นรัฐบาล คสช.โดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 มีการสานต่อการพูดคุยเปลี่ยนมาเป็นคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาใต้ ที่มีพลเอกอักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าฝ่ายไทย เริ่มกระบวนการใหม่กับกลุ่มมาราปาตานี



ก่อนที่มาราปาตานี โดยอุสตาส สุกรี ฮารี ตัวแทนจากบีอาร์เอ็นและหัวหน้าคณะพูดคุยของมาราปาตานี จะล้มโต๊ะเจรจาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 หลังพลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยไม่เข้าร่วมประชุมตามนัดหมาย ซึ่งเกิดขึ้นการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ทำให้ 4 ปีในการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี ล้มเหลว



และหลังเลือกตั้ง 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยมีพลเอกวัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้า เริ่มพูดคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็น รอบใหม่ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 โดยมีอุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น



ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกมาแล้ว 3 คน ไทยเปลี่ยนคณะพูดคุยมาแล้ว 4 คณะ และเปลี่ยนคู่เจรา มาแล้ว 3 ครั้ง จนล่าสุดได้ข้อตกลงแผนสันติภาพ JCPP ระยะเวลา 2 ปี มุ่งเป้าประกาศหยุดยิง ลดความรุนแรงและเริ่มหารือทางออกทางการเมือง



ในมุมองของพลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพคนแรกของไทย เห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมาพัฒนาการช้ามาก ถ้าหากยังเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยโอกาสที่จะพัฒนาสูงมาก สิ่งที่ดำเนินอยู่จึงเป็นเพียงการรักษารูปแบบของทั้งสองฝ่ายว่ายังใช้การพูดคุยเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเท่านั้น



พลโท ภราดร ที่ปัจจุบันเป็นเลขานุการคณะกรรมการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมรับฟังข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อพรรคการเมือง ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยชูนโยบายสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมที่จะยกเลิกกฏหมายพิเศษที่เป็นอุปสรรคสำคัญ และเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดได้ในรัฐบาลประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น



ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม แม้เป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่มีเป้าหมายทำงานการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีประสปการณ์ทำงานในพื้นที่สันติภาพมาทั้่วโลก มองเช่นกันว่า พัฒนาการกระบวนการสันติภาพไทยยังย้ำอยู่กับที่ และเห็นด้วยกับภาคประชาสังคมที่พรรคการเมืองจะมีบทบาทสำคัญยกระดับปัญหาเป็นวาระแห่งชาติสู่รัฐสภา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโต๊ะเจรจาไม่ใช้เพียง 2 ฝ่ายที่กุมกำลังทางทหารเท่านั้น และยกเลิกกฏหมายพิเศษที่เป็นอุปสรรคสำคัญเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฏอัยการศึก



นายรอมฏอร์ ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์ชายแดนใต้ ปาตานี พรรคก้าวไกล มีนโยบายจะผลักดันข้อตกลงสันติภาพให้เป็นข้อกฏหมายเข้าสู่รัฐสภา จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง และยกเลิกกฏหมายพิเศษ ที่อาจต้องมีการปรับปรุงกฏอัยการศึกใหม่ นอกจากการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ที่ถูกใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักตลอด 20 ปีที่ผ่านมา



ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามปัญหาตลอด 4 ปีของรัฐบาล และลงพื้นที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เพราะกระบวนการสันติภาพต้องใช้เวลา และเชื่อว่าในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายที่จะสร้างสันติภาพคืนสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเน้นการพัฒนาสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชนด้วย



นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองที่มารับฟังข้อเสนอของภาคประชาสังคม ก่อนที่สนามเลือกตั้งจะเริ่มต้นในไม่ช้านี้ พรรคการเมืองจึงกลายเป็นความหวังหนึ่งในการผลักดันกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณอาจสนใจ

Related News