สังคม
รำลึก 1 ปี 'หมอกระต่าย' ย้ำเหตุสูญเสียในความทรงจำ สร้างการเปลี่ยนแปลงความปลอดภัยบนถนน
โดย panwilai_c
21 ม.ค. 2566
57 views
ครบรอบ 1 ปี หลังเหตุการณ์รถจักรยานยนต์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย บริเวณทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ จนเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่นำมาสู่ความพยายามลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไปพร้อมๆกับการสร้างวินัยการจราจร จนถึงรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความปลอดภัยบนท้องถนนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปี เต็ม
วันนี้ (21 ม.ค. 66) ครอบครัวหมอกระต่าย และเครือข่ายรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ร่วมจุดเทียน เปิดไฟมือถือ และวางดอกไม้ เพื่อร่วมรำลึกถึง ความสูญเสียหมอกระต่าย บริเวณทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ชนบนทางม้าลายระหว่างข้ามถนนจนเสียชีวิต ภายหลังจุดเทียน วางดอกไม้เสร็จ ครอบครัว บอกว่ายังทำใจไม่ได้แม้จะผ่านไป 1 ปีแล้ว
โดย พ่อและแม่หมอกระต่าย กล่าวว่า อยากให้ถนนปลอดภัย อยากให้การรณรงค์ครั้งนี้กระตุ้นเตือนไปยังผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักคำนึงถึงความปลอดภัยของคนข้าม อยากให้เสียงการรณรงค์ครั้งนี้ไปถึงหน่วยงานที่ร่วมกันรับผิดชอบทุก ๆ หน่วยงาน มาช่วยกันบูรณาการแก้ไขไปให้ถึงจุดหมายที่ทำให้ถนนปลอดภัย
1 ปีที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ของหมอกระต่าย ก็ทำให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น ซึ่งนั่นมาจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึกร่วมกัน โดยล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 21 มกราคม ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน เราจะมาสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนท้องถนนกัน
1 ปีที่ผ่านมา ทางม้าลายหลายแห่งในกรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ทั่วประเทศได้รับการปรุงปรุงใหม่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้นจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะทางม้าลายบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ บนถนนพญาไท เขตราชเทวี ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุที่แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ประสบอุบัติเหตุ
มีการตีเส้น ก่อนถึงทางม้าลายและทาสีแดงขยายพื้นผิวให้กว้างและเด่นชัดขึ้น ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร โดยมีปุ่มกดสำหรับคนข้าม พร้อมตัวเลขนับเวลาถอยหลัง รวมทั้งกล้องเอไอตรวจจับผู้กระทำความผิด
ขณะเดียวกันก็เกิดการรณรงค์สร้างจิตสำนักด้านความปลอดภัยบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น ทั้งการจัดเวทีเสวนาหาทางออกแก้ไขปัญหา
และการสร้างสัญลักษณ์เตือนใจผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างทางกระต่าย เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้คนจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่ในครั้งนั้น
ขณะเดียวกันเราก็พบทางม้าลายที่ยังไม่มีสัญญาณไฟติดตั้งทำให้คนข้ามต้องรอจังหวะรถอีกหลายจุดทั่วกทม.
ข้อมูลปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าทางม้าลายทั้งหมดในกรุงเทพมหานครจำนวน 2,794 แห่ง ถูกปรับปรุงทาสีให้เด่นชัดไปแล้ว 2,306 แห่ง ส่วนสัญญาณไฟบริเวณทางแยกทำไปแล้ว 540 ทางแยก มีทางข้ามที่มีสัญญาณไฟจราจรข้ามถนนชนิดกดปุ่ม 271 แห่ง และ มีสัญญาณไฟกะพริบ 974 แห่ง โดยมีเป้าหมายทำเพิ่มในช่วงปี 2566-2568 จาก 1,785 แห่ง เป็น 2,525 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร
ล่าสุดกฎหมายจราจรใหม่ก็ได้ปรับบทลงโทษสำหรับผู้ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลายให้สูงขึ้น ด้วยโทษปรับ 4,000 บาท จากเดิม 1,000 บาท ซึ่งนี่ยังรวมไปถึงการขับรถฝ่าไฟแดง และ ขับรถเร็วเกิดกำหนดอีกด้วย
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉิน และความปลอดภัยบนท้องถนน วุฒิสภา กล่าวว่า คณะกรรมการ ได้ประเมินผลสำเร็จจากการจัดกิจกรรมรณรงค์มาแล้ว 11 ครั้ง ในปี 2565 พบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าลดลงร้อยละ 20
ขณะที่ผู้ขับขี่โดยเฉพาะจักรยานยนต์หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางส่วนไม่ปฏิบัติตาม เขาจึงเชื่อว่าการให้ความสำคัญและรณรงค์ที่ต่อเนื่องจะช่วยให้สังคมมีจิตสำนึกมากยิ่งขึ้น
ข่าว 3 มิติ สังเกตการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณทางม้าลายพบว่า ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎจราจร หยุดชะลอรอสัญญาณให้คนข้ามถนน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหลายรายยังคงเร่งเครื่องเพื่อฝ่าสัญญาณ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และพบการจอดคร่อมกีดขวางทางม้าลาย
ชายขายพวงมาลัยคนนี้คือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนถนนพญาไทเป็นประจำในทุกวัน เขาเล่าว่าแม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ก็ยังพบความประมาทเกิดขึ้นในทุกวัน ทั้งจากผู้ขับขี่ และ คนเดินถนน ที่มักไม่หยุดรอสัญญาณ หรือ สังเกตรถรอบข้างก่อนข้าม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้มาก
เนื่องในวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ข่าว 3 มิติ ขอสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และรณรงค์ให้ทุกคนขับขี่ปลอดภัย ปฏิบัติตามวินัยจราจร หยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นที่ผ่านมา