สังคม

ลงพื้นที่สอบด่านชั่งน้ำหนัก พิสูจน์ความจริง ปัญหาส่วยรถบรรทุก

โดย panwilai_c

20 ม.ค. 2566

155 views

การทุจริตอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทีมเราเปิดโปงมาตั้งแต่เมื่อปี 2539 และเกาะติดมาเป็นระยะ จนข่าว 3 มิติ เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี เราก็ยังคงตามตรวจสอบ นั่นคือเรื่อง ส่วยทางหลวง ที่พัฒนาจากการส่งเงินใส่มือให้เจ้าหน้าที่ มีการโยนเงินลงพื้นถนนให้ พิมพ์สติกเกอร์ขาย เพื่อนำไปติดหน้ารถ เป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นรถที่จ่ายส่วยรายเดือนแล้ว จนมาถึงปัจจุบัน การจ่ายส่วย ปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าน้อยลงมาก แต่การจ่ายทำกันในทางลับ โดยเฉพาะส่วยรถบรรทุก การตรวจสอบจึงต้องใช้วิธีตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการปล่อยปละละเลยให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด วิ่งบนทางหลวงได้ ส่งผลให้ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ มากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี



เท่าที่เรามีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ การเรียกเก็บส่วยรถบรรทุก เพื่อแลกกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็สามารถพาย้อยวิวัฒนาการเก็บส่วยไปจนถึงปี 2539 ทีมข่าวของเราได้เริ่มตรวจสอบการจ่ายส่วยทางหลวงตั้งแต่ตอนนั้น ความแยบยลที่สุดขณะนั้น คือ ส่วยสติกเกอร์ ที่ผู้ประกอบการยอมจ่ายส่วยรายเดือนให้ตำรวจ เพื่อไปพิมพ์สติกเกอร์ขายให้กับรถบรรทุกทั่วประเทศ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า จ่ายส่วยแล้ว กระทั่งปี 2547 สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ได้สร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกจำนวน 7 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ และลดปัญหาถนนพัง ที่เกิดจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินและป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่



แต่ส่วยสติกเกอร์ ที่เคยจ่ายให้ตำรวจ ก็ถูกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ใช้กับด่านชั่งน้ำหนัก และบางส่วน แม้ไม่มีสติกเกอร์ ก็จะมีการส่งสัญลักษณ์ ไว้ในไลน์ หรือ แจ้งทะเบียนรถให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อปล่อยผ่านด่านชั่งทั้ง 7 แห่งได้



ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี ปีนี้ 2566 สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกทั่วประเทศจำนวน 97 แห่ง มีสถานีย่อยอีก 33 สถานี ดำเนินการตรวจสอบน้ำหนักเส้นทางหลวงรถบรรทุกทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการจ่ายส่วย การจ่ายส่วยป้ายเคลียร์เส้นทาง จนถึงวันนี้ปัญหาระบบการจ่ายส่วยก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เจ้าหน้าที่ยังปล่อยปะละเลยให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินกฏหมายกำหนดวิ่งบนเส้นทางหลวงได้



ส่งผลให้ถนนและสะพานเกิดความเสียหาย ชำรุดก่อนถึงอายุการใช้งานเร็วขึ้น โดยเฉลี่ยถนนคอนกรีตจะมีอายุการใช้งานประมาณ 30 ปี ส่วนถนนแอสฟัลท์มีอายุการใช้งาน 7 ปี ก็ต้องซ่อมเร็วขึ้น เพราะถนนมีการออกแบบมารองรับน้ำรถบรรทุกเพียงแค่ 21-25 ตัน เท่านั้น เมื่อมีการบรรทุกน้ำเกินกว่ากฎหมายกำหนดประมาณ 80-100 ตันวิ่งอยู่บนท้องถนนอยู่ทุกวัน ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ ทั้งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และส่วนท้องถิ่น มากกว่า 1 แสนล้านบาท ต่อปี



แม้สถานีด่านตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกของสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ที่สร้างไว้ริมทางเส้นทางหลวง ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 100 สถานี แต่ก็ไม่สามารถหยุดขบวนการทำป้ายเคลียร์เส้นทางจ่ายส่วยรถบรรทุกแบกน้ำหนักวิ่งบนท้องถนนให้ลดลงได้ ทีมข่าวสามมิติลงพื้นที่ลงไปตรวจสอบแต่ละสถานีด่านตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก พบว่ารถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกฏหมายกำหนดประมาณ 80-100 ตัน จะไม่วิ่งเข้าสถานีตรวจสอบน้ำหนัก จะใช้เส้นทางเลี่ยงด่าน หากรถบรรทุกเคลียร์เส้นทางแล้วก็ขับผ่านไปได้ ติดตามการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง



มีคลิปที่ชาวบ้านส่งมาร้องเรียนกับข่าวสามมิติ ว่าปัจจุบันนี้มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินกฏหมายกำหนด ไม่ยอมวิ่งเข้าตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกของสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง กันเป็นจำนวนมาก



ทีมข่าวสามมิติจึงลงพื้นที่ด่านตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก บริเวณเขตพื้นที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ตามข้อมูลจากคลิปภาพ



เพียงระยะเวลาไม่กี่นาทีก็มีรถบรรทุกไม่ยอมเข้าด่านสถานีตรวจสอบมีอยู่จริง ซึ่งพนักงานประจำด่านยอมรับว่าหากเป็นเช่นนี้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ออกติดตามเรียกนำรถกลับมาเข้าตรวจสอบอีกครั้ง



ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ยอมรับกับทีมข่าวสามมิติว่า ปัจจุบันนี้สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกทั่วประเทศจำนวน 97 แห่ง มีกล้องวงจรปิดส่งภาพเข้าศูนย์บัญชาการเครือข่ายตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ ที่กรุงเทพฯ ครบทุกสถานี และมีสถานีย่อย spt Cjhek อีก 33 สถานี ดำเนินการตรวจสอบน้ำหนักเส้นทางหลวงรถบรรทุกทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการจ่ายส่วยเบี้ยไหล่ทาง การจ่ายส่วยป้ายเคลียร์เส้นทางอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้ด่านสถานีตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักได้ครับทั้งหมดทุกด่าน มีเพียงประมาณ 30 กว่าด่านเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้



การป้องกันและปราบปรามขบวนกลุ่มขบวนการทำป้ายเคลียร์เส้นทางจ่ายส่วยรถบรรทุกแบกน้ำหนักวิ่งบนท้องถนนหลวง ที่มีสถิติการจับกุมรถบรรทุกบรรทุกเกินกฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่จะใช้ศูนย์บัญชาการเครือข่ายตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ ที่กรุงเทพฯแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางคอยตรวจสอบสถานีด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุก ทุกสถานีทั่วประเทศ อีกช่องทางหนึ่ง



ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับทีมข่าวสามมิติว่า สถานีตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกที่มีอยู่ทั่วประเทศตอนนี้ การใช้งานยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร จับได้แต่รายเล็กๆ บรรทุกเกินเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่รถบรรทุกเกินกฎหมายบรรทุก 80 ถึง 100 ตัน ก็ยังปล่อยให้วิ่งบนท้องถนนหลวงได้



ล่าสุดสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้รวบรวมบัญชีรายชื่อกว่า 40 รายชื่อพร้อมลักษณะป้ายเคลียร์ในกลุ่มขบวนการทำป้ายเคลียร์เส้นทางจ่ายส่วยรถบรรทุกแบกน้ำหนักวิ่งบนท้องถนนหลวงไว้แล้วเตรียมยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News