สังคม

ทลาย 'ส่วยรถบรรทุก' รวบหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก โอนบัญชีม้าไม่ต่ำกว่า 5 ล้าน/เดือน สายอีสานเงินหมุนเวียน 200 ล้าน

โดย nattachat_c

4 ก.ย. 2567

101 views

บิ๊กเต่า นำทีมตรวจค้นเป้าหมาย 11 จุด ทั่วประเทศบุกจับหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก กรมทางหลวง พร้อมลูกสมุน “เก็บส่วยรถบรรทุก-รถเครน” จ่ายรายเดือนหลักพัน-หลักแสนบาท โอนเข้าบัญชีม้าแลกไม่จับกุม พบเงินส่วยแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีผู้เสียหายมากกว่า 30 ราย ตรวจสอบย้อนหลัง 4 ปี พบเงินหมุนเวียนเครือข่ายนี้ 200 ล้านบาท พร้อมเปิดเส้นเงินชุดเฉพาะกิจเก็บส่วย

วานนี้ (3 ก.ย. 67) เวลา 06.30 น. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. นำกำลังเปิดปฏิบัติการทลายเครือข่าย 'เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับส่วยรถบรรทุก' และเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 11 จุด ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่

  • พระนครศรีอยุธยา
  • ชัยภูมิ
  • เพชรบูรณ์
  • นครปฐม
  • ชลบุรี
  • เชียงใหม่
  • กรุงเทพมหานคร

จากปฏิบัติการดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาคนสำคัญในขบวนการได้ 3 ราย ประกอบด้วย

1. นายนพดล อายุ 57 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก กรมทางหลวง และเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot Check โดยตำรวจภูธรภาค 5 เข้าควบคุมตัวภายในบ้านพัก จ.เชียงใหม่ ขณะเดินเล่นในสวน ในตัวมีเงินสด 40,000 บาท เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 67

จับกุมในข้อหา

  • เป็นเจ้าพนักงานร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
  • เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

2. นายเอนก อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้านครราชสีมา จับกุมได้โดย บก.ปปป. ในวันที่ 3 ก.ย. 67 

จับกุมในข้อหา

  • เป็นเจ้าพนักงานร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
  • เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3. นายธงชัย หรือบอย อายุ 38 ปี เป็นพลเรือน ทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อ จับกุมได้ที่ จ.ชัยภูมิ

จับกุมในข้อหา

  • สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ซึ่ง นายเอนก และ นายธงชัย เป็นลูกสมุนของนายนพดล 

พร้อมเชิญตัว นายประทิน อายุ 39 ปี เจ้าของบัญชีธนาคาร มารับทราบข้อกล่าวหาด้วย

--------------

การปฏิบัติการครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการร้องเรียน และ สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจเรตำรวจแห่งชาติ

ซึ่งจากการสืบสวน พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง มีพฤติการณ์เรียกรับเงิน หรือรับส่วย จากผู้ประกอบการรถเครน และรถบรรทุกน้ำหนักเกิน รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้โดยไม่ถูกจับกุม

หลังรับเรื่อง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  จึงสั่งการให้

  • พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  • พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. ประสานข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เร่งสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง

เจ้าหน้าที่จึงเร่งสืบหารวบรวมพยานหลักฐาน

  • สอบปากคำพยานบุคคลต่าง ๆ กว่า 30 คน
  • ตรวจสอบบัญชีธนาคารผู้รับส่วย
  • บัญชีม้า
  • บัญชีผู้จ่ายส่วย
  • ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด
  • ธนาคาร,
  • กล้องโทรศัพท์มือถือของพยาน

แล้วไปขออำนาจศาลออกหมายจับ จนนำมาสู่การตามจับกุมตัวผู้ต้องหา 3 ราย

โดย 2 ใน 3 ราย เป็นเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) หน่วยงานในสังกัดของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่วิ่งบนทางหลวง แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ เรียกเก็บเงินส่วยรายเดือนจากผู้ประกอบการ เพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี 

ซึ่งมี นายธงชัย (ผู้ต้องหารายที่ 3) ที่เป็นพลเรือน คอยทำหน้าที่หน้าเสื่อหรือตัวกลาง เป็นผู้เข้าไปเจรจาเรียกรับเงินแทน

หากผู้ประกอบการรายใด ไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ก็จะถูกกวดขันจับกุมอย่างหนัก จนกระทบต่อกิจการ โดยแต่ละรายจะต้องจ่ายส่วยรายเดือน ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท มีเงินส่วยหมุนเวียนตกเฉลี่ยเดือนละกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้มาจะถูกโอนเข้าไปยังบัญชีม้า ที่เปิดโดย นายประทิน หรือนายโทน ก่อนจะถูกโอนถ่ายไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่หัวหน้าขบวนการตามลำดับ

จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า มีชุดเฉพาะกิจดังกล่าว กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 ชุด และได้ตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2562 - 2566 ทราบว่า มีผู้เสียหายมากกว่า 30 ราย มีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่-รายเล็ก ที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท และเงินส่วยหมุนเวียนแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

บก.ปปป.ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย เข้าตรวจค้นตามจุดต่าง ๆ ที่ต้องสงสัยว่ามีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ที่เกิดขึ้นภายในกรมทางหลวง รวมไปถึงการตรวจค้นด่านช่างน้ำหนักที่ผู้ต้องหาได้ปฎิบัติหน้าที่อยู่ด้วยรวม 11 จุด

เจ้าหน้าที่ได้นำตัว นายนพดล เข้าตรวจค้นห้องทำงาน ที่ด่านบางประอิน และด่านวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และห้องพักชั่วคราว สามารถยึดหลักฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ปืน 2 กระบอก สมุดจดรายการต่าง ๆ และเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีการบันทึกข้อมูล กลับไปตรวจสอบ ซึ่งนายนพดล กล่าวสั้น ๆ ปฏิเสธเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจสอบ คอมพิวเตอร์ จอควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักหนึ่ง โดยพบทั้งข้อมูล 2 ถัง ซึ่งมี 1 ถังส่งเข้าส่วนกลาง ส่วนอีกถังไม่ได้นำส่งเข้าสวนกลาง

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงเปิดเผยว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การที่เป็นประโยชน์ ส่วนจะเกี่ยวข้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างรวบหลักฐาน แต่จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบความเชื่อมโยงกับบัญชีม้า และผู้ประกอบการรถบรรทุก มีการโอนเงินจากผู้ประการรถบรรทุกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าบัญชีม้า และเชื่อมโยงไปถึงนายนพดล เดือนละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ตรวจสอบย้อนหลัง 4 ปี พบมีเงินหมุนเวียนสำหรับเครือข่ายนี้ ประมาณ 200 ล้านบาท

สำหรับเงินหมุนเวียนเวียน 200 ล้าน ภายใน 4 ปี หากขยายผลพบใครเกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีให้หมด นอกจากเงินผ่านบัญชียังพบว่ามีเงินสดจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนได้ชัดเจน โดยคาดว่า หลังจากนี้จะมีผู้ต้องหาเพิ่ม และเชื่อว่ามีตัวการใหญ่ในกรมทางหลวงอยู่เบื้องหลัง ยืนยันไม่มีมวยล้มต้มคนดู

ด้าน พ.ต.อ.ธณัชชนม์ เก่งกสิกิจ ผู้กำกับ 3 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เผยว่า พฤติการณ์ของนายนพดล เมื่อตรวจพบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะทำทีพูดคุยเรียกรับเงินหน้าด่าน ครั้งละ 100,000 บาท จากนั้น จะตกลงจ่ายเป็นรายเดือนต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบน้ำหนัก ส่วนที่ด่านตรวจชั่งน้ำหนักวังน้อย มีการนำแบริเออร์ปิดเส้นทางเข้าด่าน และอ้างว่าอยู่ระหว่างซ่อมแซมถนน ทำให้รถบรรทุกที่วิ่งสัญจรผ่านเส้นนี้ไม่ต้องเข้าด่าน จึงทำเป็นข้อสังเกตว่า การปฏิบัติงานมีความผิดปกติหรือไม่

ด้าน พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการ ปปป. บอกว่า เงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวน 200 ล้านบาท เป็นเพียงเงินขาเข้าบัญชีที่มาจากผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสานประมาณ 200 ราย ซึ่งโอนผ่านบัญชีม้าของนายประทิน ก่อนจะแปลงเป็นเงินสดออกจากบัญชี ซึ่งต้องขยายผลต่อว่ามีการส่งต่อไปให้ใครบ้าง ตอนนี้มีผู้เสียหายที่ให้ข้อมูลกับตำรวจแล้วประมาณ 50 คน แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลเนื่องจากกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะยินยอมจ่ายให้เจ้าหน้าที่เอง

ด้าน นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม รับว่า จากการตรวจสอบระบบ กรมทางหลวงในการช่างน้ำหนักรถบรรทุก มีความหละหลวมเป็นอย่างมากเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ไม่สามารถตอบคำถามว่าจะมีมาตรการติดตามรถบรรทุกที่น้ำหนักเกินได้อย่างไร อีกทั้งชุดเฉพาะกิจ Spot check บางชุด ก็ไม่ได้มีการรายงานผลจับกุมผลการปฏิบัติการเป็นลักษณะของการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานกันเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางหลวง มีจำนวนน้อย ด่านช่าง 1 ด่าน มีเพียง เจ้าหน้าที่ทางหลวง 1 คน ที่เหลือเป็นเพียงลูกจ้างที่ปฏิบัติงานตามด่านช่างน้ำหนักเท่านั้น

ต่อจากนี้ จำนำเทคโนโลยีระบบตรวจวัดสามมิติ (3D Measurement System) ร่วมกับ ด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion: WIM) พร้อมทั้งระบบกล้องถ่ายป้ายทะเบียน (LPR) เพิ่มสถานีตรวจสอบน้ำหนัก และจุดจอดพักรถบรรทุก รวมถึงหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมแผนงานและงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ให้ครอบคลุมโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอีกด้วย

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง อดีตประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประมาณ 3 เดือนที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. ได้เชิญไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่าข้อมูลที่เขามีอยู่ก็ตรงกับ ปปท.และ ปปป. และยังตรงกับข้อมูลของผู้ประกอบอีก 30-40 ราย ที่เข้าให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ถูกรีดไถเงินที่ด่านชั่งน้ำหนักถาวรของกรมทางหลวง ไม่ใช่ชุดเฉพาะกิจ Spot Check หรือชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งชุดเคลื่อนที่เร็วจะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก และมีการจับกุมอย่างจริงจัง จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเป็นชุดรีดไถ แต่อาจเป็นชุดเฉพาะกิจจากด่านถาวร ซึ่งเป็นชุดย่อยของด่าน

ลักษณะการจ่าย คือ ผู้ประกอบการที่เสียเงินอาจจะต้องไม่เข้าด่านชั่งน้ำหนัก แต่หากไม่เสียเงินก็จะต้องจ่ายเงินเป็นรายเที่ยว หรือรายเดือน ประมาณ 2,000-5,000 บาท โดยจะมีหน้าเสื่อมาคอยเรียกเก็บแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีม้า

นายอภิชาติ ยืนยัน ปัจจุปันไม่มีส่วยแบบสติกเกอร์ แต่ยังมีการเรียกรับผลประโยชน์ในรูปแบบของการกล่าวอ้างชื่อบุคคล หรือใช้อักษรย่อแทนบุคคลนั้น ซึ่งตรงกับบัญชีรายชื่อเจ้าหน้าที่มีการเรียกรับผลประโยชน์ และการเรียกรับผลประโยชน์ จะมีการสอบถามว่า วิ่งประจำ หรือวิ่งเป็นชั่วคราว รวมทั้งบริษัทนั้น มีรถมากก็จ่ายมาก รถน้อยก็จ่ายน้อย

โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักเกินจากข้อมูล พบว่า มีการแบกน้ำหนักเกินกว่าเท่าตัว เช่น ให้วิ่งไม่เกิน 50 ตัน ก็จะแบกน้ำหนักเป็น 100 ตัน มีทั้งบรรทุกอิฐ หิน ดิน ทราย พืชไร่ หรือรถบรรทุกเฉพาะกิจ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ถนนสายเอเชีย พื้นที่ภาคกลาง ขึ้นอยู่กับขอบเขตของตราชั่งกรมทางหลวงว่าไปถึงไหน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/eTKZ146i4r8

คุณอาจสนใจ

Related News