สังคม
ไม่จบ! พบสารปนเปื้อน รง.รีไซเคิล ราชบุรี ไหลสู่ชุมชนต่อเนื่อง ชาวบ้านวอนรัฐเร่งแก้ปัญหา
โดย panwilai_c
21 ก.ย. 2565
69 views
เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล ที่จังหวัดราชบุรี ผ่านมาครบ 3 เดือน และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกคำสั่งให้โรงงาน นำกากขยะปนเปื้อนสารเคมี ไปกำจัดนอกโรงงานภายใน 15 วัน นับจากที่ลงนามในคำสั่งเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าการเคลื่อนย้ายกากขยะสารเคมีทำได้เพียง 100 ตัน จากทั้งหมด 570 ตัน จากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนย้ายไปกำจัดอีก
วันนี้ชาวบ้านกว่าร้อยคน จึงรวมตัวเรียกร้องภาครัฐเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากทนรับความเดือดร้อน เกือบ 20 ปี ซ้ำยังมีน้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลมาไม่หยุด
น้ำผุดขึ้นจากใต้ดินกระจายไปทั่วพื้นที่การเกษตรของนายธนู งามยิ่งยวด เป็นหนึ่งในปัญหาล่าสุด ที่นายธนู และชาวตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี กำลังประสบเพราะน้ำที่ผุดขึ้น มีกลิ่นสารเคมีชนิดเดียวกับที่ปรากฏในโรงงานแวกซ์ กาเบจ รีไซเคิลเซนเตอร์ ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 3 กิโลเมตร ส่วนการตรวจคุณภาพน้ำโดยกรมควบคุมมลพิษก็พบว่า ปนเปื้อนสารเคมีเช่นกัน
ตอนนี้น้ำปนเปื้อนผุดขึ้นจากแทบทุกมุมของแปลงเกษตร นายธนูถึงขั้นต้องตัดลำไย ที่เป็นไม้เศรษฐกิจของสวนทิ้งไป เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำมากในช่วงให้ดอกผล แต่ใช้น้ำในห้วยไม่ได้เพราะปนเปื้อนสารเคมี จึงเปลี่ยนไปปลูกโกโก้ ที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องลงทุนเจาะบาดาลและตรวจให้มั่นใจว่าปลอดภัยจึงนำมาใช้เพาะปลูกได้
น้ำปนเปื้อนกากขยะสารเคมีดั้งเดิม และน้ำชะล้างกากขยะหลังเกิดเพลิงไหม้โรงงานแวกซ์กาเบจ ที่ไหลมาสะสมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันลงชื่อแจ้งความเดือดร้อนของตัวเองส่งต่อให้ส.ส.ในพื้นที่ หวังให้หาวิธีเร่งแก้ปัญหากลิ่นและน้ำเสียที่เผชิญมา 20 ปี และเป็นการอดทนรอการแก้ปัญหาที่ชาวบ้านบอกว่าล่าช้ามาก
นางประเทือง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากตั้งข้อสงสัยถึงการย้ายสารเคมีออกไปอย่างล่าช้าแล้ว ยังระบายความในใจถึงความทุกข์ยากที่ชาวบ้านได้รับ ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะใครสักคนแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อนี้ได้
ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหานี้ ได้รับการยืนยันล่าสุดว่า คณะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนระดับ จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ส่งหนังสือเมื่อ 5 กันยายน ที่ผ่านมา เสนอปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้มาตรา 42 ของพรบ.โรงงานพ.ศ. 2535 ให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่น ที่ปลัดกระทรวงมอบหมาย ไปกำจัดกากขยะสารเคมีนี้แทน ส่วนค่าดำเนินการให้ไปฟ้องเรียกร้องจากโรงงาน
มีข้อเท็จจริงว่าหนังสือดังกล่าวถูกส่งไปแล้วก็จริง แต่ยังมีขั้นตอนที่ปลัดกระทรวงต้องพิจารณาเห็นชอบตามเสนอหรือไม่ รวมถึงที่มาของงบประมาณกำจัดไปก่อน ซึ่งอาจต้องใช้ จากกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลาอีกระยะ สวนทางกับความเดือดร้อนในพื้นที่ที่ยังทวีความรุนแรงขึ้น