สังคม
บุกตรวจ 4 โรงงานรีไซเคิล ถูกร้องเรียนส่งกลิ่นเหม็น พบระบบบำบัดอากาศ-ค่าฝุ่นไม่ได้มาตรฐาน
โดย chawalwit_m
22 พ.ย. 2567
536 views
คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรีด่วน เพื่อตรวจติดตามโรงงาน 4 แห่งในตำบลวังเพลิง อำเภอโคกสำโรง หลังจากมีชาวบ้านร้องเรียนว่าโรงงานบางแห่งส่งกลิ่นเหม็นฉุน และสงสัยว่าบางแห่งอาจฝังกากสารเคมีที่เหลือจากกระบวนการรีไซเคิลไว้ในพื้นที่บริษัท ขณะที่ผลการตรวจสอบ พบว่า ระบบบำบัดอากาศและฝุ่นของโรงงานบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน โดยก่อนหน้านี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกคำสั่งตามมาตรา 37 พ.ร.บ.โรงงาน สั่งให้ปรับปรุงไว้แล้วเช่นกัน
บริษัท เค ดี ดี เอ็นเตอร์ไพร์ จำกัด เป็นโรงงานแรกที่ประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะเจ้าหน้าที่ไปตรวจวันนี้ โดยโรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตโรงงาน 2 ใบ ใบแรกประเภท 105 คัดแยกขยะที่ไม่ใช่แล้ว ที่เป็นของเสียอันตรายและใบที่ 2 เป็นประเภท 106 ประกอบกิจการหล่อ-หลอม และสกัดโลหะมีค่า เช่นทองแดง และสังกะสี เป็นต้นจากตะกรัน ตะกอน ฝุ่นและผงจากเตาหลอม และกระการผลิตอื่นๆ
โดยบางโรง เป็นโรงหลอมฝุ่นผงเพื่อสกัดโลหะประเภทซิงค์ หรือสังกะสี ขณะที่คณะกรรมาธิการฯเข้าไปตรวจสอบ เครื่องจักรยังคงทำงาน และเจ้าหน้าที่ระบุว่าเตาหลอมนี้ กลับมาทำงานได้ราว 1 สัปดาห์
ส่วนโรงหนึ่งพบว่า เป็นโรงหลอมทองแดง จากเศษโลหะ และเศษผงที่มีโลหะที่มีค่าเป็นองค์ประกอบ ในอาคารมีเศษผงที่ผสมซีเมนต์เพื่อเตรียมนำเข้าเตาหลอม แต่ผู้ที่มาชี้แจงวันนี้ให้คำตอบไม่ได้ว่าวัตถุดิบนำเข้ามาจากที่ใด
ด้าน นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงตัวแทนโรงงานว่า มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นจากการทำงานในโรงงานฯในย่านนี้ ซึ่งตำบลวังเพลิงมีอย่างน้อย 5 โรงงาน จึง จึงเข้ามาตรวจสอบตามข้อร้องเรียนและเฉพาะโรมหลอมทองแดงนี้ พบว่าอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี ออกคำสั่งตามมาตรา 37 ตามพรบ.โรงงานฯ ให้หยุดเพื่อปรับปรุง ระบบกรองอากาศที่ยังบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ พบว่ามีร่องรอยการหลอมทองแดง โดยวัตถุดิบยังมีอุณหภูมิร้อน ขณะที่ตัวแทนโรงงานอธิบายว่า เป็นการทดลองเดินเครื่องเพื่อทดสอบระบบกรองอากาศที่กำลังปรับปรุง ซึ่งคณะกรรมาธิการยังไม่ปักใจเชื่อ
นอกจากนี้ข้องสงสัยเรื่องขั้นตอนการปรับปรุงระบบกรองอากาศแล้ว ยังให้ชี้แจงที่มาของกากอุตสาหกรรม ที่นำมาเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการหลอม ว่ามาจากที่ใด และเมื่อผ่าน การหลอมซ้ำ จนกากฯนั้นหมดแร่ที่มีค่า หรือไม่คุ้มที่จะนำไปหลอมอีกนั้น แท้จริงแล้วกากฯเหล่านั้นถูกนำไปกำจัดอย่างไร ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่
จากนั้นคณะกรรมาธิการ ไปตรวจสอบที่บริษัท ที สยาม เอเจนซี่ จำกัด ซึ่งมีใบอนุญาต 2 ปี คือประเภท 58 (1) ทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต และตะกรันจากการหลอมโลหะ เช่นสังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม เป็นต้น และใบอนุญาตอีกใบ คือประเภท 60 หลอมหล่อโลหะ เช่นทองแดง อลูมิเนียมและในขณะตรวจสอบที่นี่ ยังพบอีกบริษัทที่อยู่ติดกัน ชื่อหมิงหว้าฟาร์ รีไซเคิล ทำกิจการประเภทหลอมเศษผง อลูมิเนียม เป็นอลูมิเนียมแท่ง หรือ อลูมิเนียม อินกอท
ส่วนอีก 2 ที่เหลือ โรงที่ตรวจสอบเป็นเจ้าของเดียวกันคือ บริษัท คอปเปอร์ เมททอล จำกัด ใบอนุญาตประเภท 106 หลอมหล่อตะกอนทองแดงและรีไซเคิลของเสียที่มีสังกะสี เป็นองค์ ประกอบ ที่นี่เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตุเรื่องกองแร่เหล็กที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบการหล่อหลอมทองแดง โดยให้ชี้แจงการได้มาของแร่เหล็กเหล่านั้นด้วย ส่วนอีกโรงงาน ที่เป็นเจ้าของเดียวกัน คือ บริษัทแซด เอ็น ซี อินดัสทรีเทคโนโลยี่ จำกัด โรงงานอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องจักร และระบบขจัดฝุ่นของเสียทางอากาศ
หลังจากลงพื้นที่แล้ว กรรมาธิการได้เชิญผู้ประกอบการโรงงาน เช่น เจ้าหน้าที่กรมโรงงาน -อุตสาหกรรมจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าชี้แจงตามประเด็น ที่ลง พื้นที่ในช่วงเช้า ขณะเดียวกันได้กำชับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ออกใบอนุญาตให้กำกับโรงงานทำตามเงื่อนไขในใบอนุญาต เพราะพบว่ามีหลายโรงงาน ใช้ระบบกรองอากาศที่ไม่ได้ มาตรฐาน
นอกจากนี้ กรรมาธิการ ยังตั้งข้อสังเกตุว่ามีบางโรงงานทำกิจการรีไซเคิลมาถึง 6 ปี แต่กลับไม่มีรายงานส่งกากออกไปจำกัด ซึ่งผิดวิสัยการทำกิจการประเภทนี้
ขณะที่ที่ปรึกษากรรมาธิการฯขอให้อุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเอกสารของแต่ละโรงงานที่เข้าตรวจสอบวันนี้ ทั้งใบอนุญาต ใบแจ้งประกอบการ ใบแจ้งวัตถุดิบทั้งหมด เป็นต้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบอย่างละเอียด และพิจารณาชี้แจงต่อผู้ร้องเรียนผลกระทบมาที่กรรมมาธิการด้วย