สังคม

อสส.เผยคดี GT200 จบไปนานแล้ว กองทัพไม่จำเป็นต้องผ่าเครื่องตรวจ

โดย pattraporn_a

6 มิ.ย. 2565

113 views

อัยการยืนยัน คดีจีที 200 ศาลสั่งเอกชนจ่ายค่าเสียหายให้กองทัพบกแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้งบจ้าง สวทช.ตรวจพิสูจน์เครื่อง จนถูกวิจารณ์ ใช้งบประมาณไม่เหมาะสม


กรณีที่โฆษกกระทรวงกลาโหมออกมา ระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นให้กองทัพบกดำเนินการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เพื่อใช้สู้คดีในศาลปกครองจนนำไปสู่การดำเนินการจ้างไปที่ สวทช.เป็นเงิน 7,570,000 บาท


วันนี้ ฝั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงเรื่องนี้ โดยระบุเรื่องให้ตรวจสอบเครื่อง เป็นเรื่องเก่าเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้ ศาลมีคำสั่งไปแล้ว การผ่าเครื่องไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย โดยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ลำดับเรื่องราวอย่างชัดเจนว่า


เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 กองทัพบกส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องบริษัทเอกชน สืบเนื่องจากสัญญาซื้อขายเครื่อง GT 200 มูลค่า 683.9 ล้านบาท จึงได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้ดำเนินการ เมื่ออัยการพิจารณาเรื่องแล้ว เห็นว่าการตรวจคุณสมบัติของเครื่องดังกล่าวว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ จึงมีหนังสือลงวันที่ 20 มกราคมปีเดียวกัน แจ้งให้กองทัพบก ช่วยตรวจคุณสมบัติของเครื่อง GT 200 ทั้งหมด เพื่อมาประกอบคดีในชั้นศาลปกครอง


ในระหว่างที่กองทัพบกดำเนินการดังกล่าว วันที่ 27 เมษายน 2560 อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาเนื่องจากคดีใกล้จะหมดอายุความ จนวันที่ 28 ธันวาคม ศาลปกครองกลางสั่งไม่รับคำฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีโดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ อัยการจึงอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย จนวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณาคดีจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตั้งแต่นั้นมา


ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลางเห็นว่า มีการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้น แล้วจึงมีคำพิพากษาว่าเครื่อง GT 200 ทั้งหมด เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพและไม่มีคุณลักษณะเฉพาะ ตามสัญญาจึงพิพากษาให้บริษัทเอกชนชำระเงินให้กับกองทัพบก ตามที่อัยการฟ้องเป็นเงินประมาณ 683 ล้านบาท และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชน


จากนั้น 8 กันยายน 2564 สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้แจ้งผลคดีไปยังกองทัพบก ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2564 จำเลยทุกคนได้ยื่นอุทธรณ์ และ 8 มีนาคม ปีนี้ อัยการได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยที่สองรับผิดร่วมกับบริษัทเอกชนด้วย ปรากฏว่า 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บริษัทเอกชน ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และ 7 มีนาคม ปีนี้ ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้เท่ากับว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้วโดยจบลงที่คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง


ดังนั้น จนถึงปัจจุบัน คดีหลักได้ถึงที่สุดไปแล้ว สิ่งที่อัยการขอให้กองทัพบกตรวจสอบคุณภาพของเครื่องเพื่อประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ปี 2560 จึงไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะศาลตัดสินแล้วและให้จำเลยชำระค่าเสียหายไปแล้ว


ส่วนประเด็นที่ยังค้างอยู่ในศาล คือประเด็นที่อัยการยื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับบริษัทเอกชนด้วย กับเรื่องยอดชำระของจำเลยที่ 3 และ 4 คือธนาคาร ซึ่งประเด็นที่เหลืออยู่นี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานหรือพิสูจน์คุณภาพของเครื่องอีกแล้ว เพราะศาลระบุในคำพิพากษาไปแล้วว่า คุณสมบัติของเครื่องไม่เป็นไปตามสัญญา

คุณอาจสนใจ

Related News