สังคม

อนันดาฯ ตั้งทีมกฎหมาย หวังทวงคืนความยุติธรรม คดี 'แอชตัน อโศก'

โดย pattraporn_a

9 ส.ค. 2564

101 views

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ยื่นฟ้องศาลปกครองกรณีคอนโดมีเนียม แอชตัน อโศก จนถูกศาลปกครองกลาง เพิกถอนใบอนุญาต ยืนยันว่าไม่ขัดขวางการพัฒนาเมือง ตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD แต่ชี้เหตุที่ยื่นฟ้องเพราะต้องการให้พิสูจน์ว่ามีการพัฒนาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขณะที่บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ระบุว่าตั้งทีมกฎหมายแล้ว เพื่อยื่นอุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุด หวังทวงคืนความยุติธรรม


บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด แจ้งเจ้าของห้องคอนโด แอชตัน อโศก ที่ถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิ่งถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ว่า บริษัทได้ตั้งทีมกฎหมาย และคณะทำงาน เพื่อศึกษาช่องทางในการอุทธรณ์ชั้นศาลปกครองสูงสุด และเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม ต่อเจ้าของร่วมและโครงการ พร้อมยืนยันมาตลอดว่าโครงการ ได้รับอนุญาตจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทศ หรือ รฟม. ให้ใช้พื้นที่เวนคืนของ รฟม. กว่า 6 เมตร บวกกับทางเดิมของโครงการรวมเป็น 13 เมตรเพื่อเป็นทางเข้าออกได้ และทางนั้น ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของรฟม. แลกกับการที่โครงการ จะใช้เงิน 97 ล้าน สร้างอาคารจอดรถให้ รฟม.เพื่อตอบแทน โดยระบุว่าเข้าเงื่อนไขการการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน Transit Oriented Development หรือ TOD


ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารโครงการยังอ้างอิงว่ามีอย่างน้อย 14 โครงการ ที่ใช้ที่ดินร่วมกับที่ดินเวนคืนมา ทั้งที่ของ รฟม. , การทางพิเศษ และการรถไฟ เช่นคอนโดมิเนียมสูง ย่านลาดพร้าว ที่พบว่ามีทางเข้าออก ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลาดพร้าว หรือคอนโดมีเนียม ย่านรัชดาภิเกษ ที่ใช้ทางเข้าออกร่วมกับที่ดิน ที่เป็นอาคารจอดรถของ รฟม. อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งสอง และอีกอย่างน้อย 12 แห่ง ยังไม่มีผู้ใดยื่นฟ้องว่าได้รับผลกระทบ และโครงการเหล่านั้น จะมีรายละเอียดแตกต่างจากกรณีแอชตัน อโศกหรือไม่ ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ทั้งหมดก็เกิดขึ้นใกล้เคียงกับแนวคิดการพัฒนา TOD


นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีแอชตัน คอนโด ระบุว่าแม้ไม่ขัดขวางการพัฒนาเมืองตามแนวคิดดังกล่าว แต่การพัฒนาที่ดินแปลงนั้นๆ ต้องไม่ผิดกฎหมายอื่น เช่นพรบ.ควบคุมอาคาร ที่ตรามาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัย หากพื้นที่มีทางเข้าออก กว้างไม่ถึง 12 เมตร สร้างตึกสูงได้ไม่เกิน 9 ชั้น หากสูงกว่านั้น ก็ต้องมีทางที่กว้างอย่างนั้น 12 เมตร เพื่อให้รถดับเพลิงเข้าถึงได้


นายศรีสุวรรณ ยังระบุว่า หากโครงการอื่นคล้ายๆกันมีผู้เดือดร้อน ร้องเรียนมา ก็จะยื่นฟ้องแบบเดียวกัน แต่ระหว่างนี้จะเดินหน้าร้องให้สอบสวนว่าผู้มีส่วนลงนามอนุญาตโครงการนี้ จะต้องรับผิดทางวินัยด้วยหรือไม่


สำหรับโครงการนี้ บริษัทมีเวลา 30 วัน ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะที่ นายศรีสุวรรณ คาดว่าอาจใช้เวลาอีก 3-5 ปี กว่าจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สิ้นสุดได้

คุณอาจสนใจ

Related News