พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานงานวันครบรอบ 105 ปี การสถาปนาจุฬาฯ

โดย pattraporn_a

26 มี.ค. 2565

40 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้


วันนี้ เวลา 7 นาฬิกา 5 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเป็นประธานในงานวันครบรอบ 105 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โอกาสนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่พระราชทานกำเนิดและสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จากนั้น ทรงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูป ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน บริเวณเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ ทรงพระดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาร่วมตักบาตรในวันนี้อย่างทั่วถึง


เวลา 8 นาฬิกา 51 นาที เสด็จออกหน้ามุข หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2565 โอกาสนี้ มีพระราชดำรัส เกี่ยวกับเรื่อง โรคโควิด-19 ว่า ทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตปกติแบบใหม่ หรือนิวนอร์มอล ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อเสีย


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปห้องรับรองหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานพระราชวโรกาส ให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของขวัญ เนื่องในโอกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2565 ผู้แทนผู้บริหาร ผู้แทนประชาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย


แล้วเสด็จพระราชดำเนิน ไปหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทย วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ที่บรรเลงร่วมกับการจับระบำเฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 105 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีไทยจากบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง "เที่ยวไปในแดนชวา" ร่วมกับวงสายใยจามจุรี ,วงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,วงกาเมลัน กรมศิลปากร และวงอังกะลุงพร้อมการแสดงประกอบ โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินแห่งมหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และนิสิตเก่าร่วมแสดงด้วย


เวลา 12 นาฬิกา 11 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารจุฬาพัฒน์ 14 ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการรวม และอาคารเอนกประสงค์ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นอาคารสองหลังเชื่อมต่อกัน ภายในจัดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของคณะสหเวชศาสตร์ , พื้นที่ปฏิบัติการของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา , คณะพยาบาลศาสตร์ , คณะจิตวิทยา และโถงพักคอย


ในการนี้ ทรงฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน และยาชีววัตถุด้วยพืช แล้วทอดพระเนตร ห้องต้นแบบการผลิตวัคซีน และยาชีววัตถุด้วยพืช ทั้งนี้ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นเพื่อสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ บ่มเพาะและเร่งธุรกิจวิจัยฐานนวัตกรรม และขยายผลแก่ประชาชน เพื่อสร้างประโยชน์และความสุขให้กับคนไทย และสังคมไทยอย่างยั่งยืน ปัจจุบันได้บ่มเพาะและสนับสนุน ทีมสตาร์อัพมากกว่า 304 ราย สร้างมูลค่าบริษัทสตาร์ทอัพ รวม 18,630 ล้านบาท สร้างผู้ประกอบการมากกว่า 2 พันคน


โดยมีบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จํากัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการบ่มเพาะ ซึ่งได้ผลิตวัคซีนใบยา โดยใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย ทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัส เป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกาย จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้ ขณะนี้คณะผู้วิจัยบริษัทดังกล่าว อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 2 ซึ่งต้องรอผลการทดสอบระยะที่ 1 มีความปลอดภัยก่อน จึงจะเริ่มการทดสอบในมนุษย์ได้ โดยมีทั้งกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนใดๆ มาก่อน และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้นเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทดสอบ ส่วนการทดสอบระยะที่ 3 จะดําเนินการต่อ เมื่อได้ผลการศึกษาจากระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งจะดําเนินการในกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ ที่ต้องการรับวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น เมื่อผลการทดลองมีความปลอดภัยจะทำการศึกษาในกลุ่มเด็กต่อไป


เวลา 14 นาฬิกา 56 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปสถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร ทรงเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ” และ “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ” จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “อนาคต” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงหนังสือประเภทต่าง ๆ และใช้การอ่านหนังสือ เพื่อตามหาเส้นทางสู่อนาคตที่สดใส ด้วยความมั่นใจ ก้าวข้ามความไม่รู้ สู่การเป็นมืออาชีพ ตามความถนัด และความสนใจของตนเอง


โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัสเปิดงาน และทอดพระเนตรนิทรรศต่างๆ อาทิ นิทรรศการหนังสือดีเด่น ประจำปี 2565, นิทรรศการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 รางวัลพานแว่นฟ้า วรรณกรรมการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ,นิทรรศการหนังสือพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ และการแปล อันเป็นเสน่ห์แห่งวรรณกรรม และนิทรรศการ 125 ปี รถไฟไทย


นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา การบรรยาย จากสำนักพิมพ์ และสมาคมต่างๆ โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียง รวมทั้งการออกร้านของสำนักพิมพ์กว่า 500 ร้าน แบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนหนังสือเด็กและสื่อการศึกษา , โซนหนังสือการศึกษา , โซนหนังสือต่างประเทศ, โซนหนังสือเก่า , โซน Book Wonderland (หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น) และโซนหนังสือทั่วไป สำหรับปีนี้ ได้นำแนวคิด การทำ NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นของที่ระลึกในรูปแบบดิจิทัล เนื่องจากปีที่ผ่านมาคริปโตเคอเรนซี่ กับ NFT กำลังเป็นที่สนใจ และมีศิลปินที่ทำงานด้านนี้มากขึ้น การนำ NFT มาใช้ จะเปิดโอกาสให้คนในวงการสิ่งพิมพ์ ได้เข้ามาเรียนรู้ในโลกบล็อกเชน โดยเป็นคอลเลกชันพิเศษ ของศิลปินนักวาดการ์ตูนชื่อดัง “มุนินทร์ สายประสาท” ที่สื่อถึงการเยียวยาจิตใจจากสถานการณ์โควิด-19 และให้คนจดจำรถไฟ ที่เป็นสถานที่จัดงาน ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2565 ภายใต้มาตรการการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ให้บริการแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ และการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทุกวัน

Related News