พระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ พระราชทานพระวโรกาสให้ ปลัด มท. เฝ้าทูลความคืบหน้า โครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์

โดย panwilai_c

7 ก.พ. 2565

41 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระวโรกาสให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้า กราบทูลรายงานความคืบหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม



วันนี้ เวลา 14 นาฬิกา 5 นาที สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พระราชทานพระวโรกาสให้ คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหาร และผู้อำนวยการสำนักองค์ประธาน นำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เฝ้า กราบทูลรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานบูรณะพระราชวังสนามจันทร์



ซึ่งมีพระดำริ ให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ภายในพระราชวังจำนวน 148 ไร่ เพื่อบูรณะโบราณสถานอันเป็นสมบัติของชาติ โดยกระทรวงมหาดไทย รับสนองพระดำริร่วมกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง , กรมศิลปากร , มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ดำเนินงานบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ให้กลับมางดงามสมบูรณ์ดังเดิม โดยกำหนดแผนบูรณะเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2567 , ส่วนระยะที่สอง เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2570 ทั้งนี้ การดำเนินงานจะเป็นการบูรณะอาคารต่าง ๆ พร้อมกับซ่อมแซมงานสถาปัตยกรรม , ศิลปกรรม , งานโครงสร้าง และงานระบบต่างๆ รวมถึงงานภูมิสถาปัตย์



ในการนี้ พระราชทาน พระนโยบายแก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานเพื่อ เป็นแนวทางในการเริ่มต้น การบูรณะพระราชวังสนามจันทร์



สำหรับ พระราชวังสนามจันทร์ จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2450 เพื่อเป็นสถานที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างพระราชวังในจังหวัดนครปฐม โดยหมู่พระที่นั่ง และพระตำหนักต่าง ๆ ออกแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานกับตะวันตกอย่างวิจิตรงดงาม ภายหลังจากเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ พร้อมกับใช้เป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ และต้อนรับพระราชอาคันตุกะ รวมถึงเป็นฐานที่ตั้งกองบัญชาการ และการฝึกซ้อมรบของเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับป้องกันประเทศในยามคับขัน



ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ถือเป็นการรักษาและอนุรักษ์โบราณสถานที่มีอายุกว่า 115 ปี ให้กลับมางดงามดังเดิม พร้อมกับเป็นพิพิธภัณฑ์ และอนุสรณ์สถานที่ทรงคุณค่า บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรนานัปการ อันจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับอนุชนชาวไทยรุ่นหลังสืบไป

Related News