พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการ หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย

โดย pattraporn_a

29 ม.ค. 2565

147 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการ หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 พร้อมทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้า และงานหัตถ กรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดมหาสารคาม


นนี้ เวลา 12 นาฬิกา 24 นาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งสักการะ พระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ของชาวจังหวัดมหาสารคาม แล้วทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนรำ ของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในเพลง "ฟ้อนฮับเสด็จเจ้าฟ้า" ที่ประพันธ์ขึ้น โดยอ้างอิงเนื้อหา มาจากการถวายพระพรในคติชนท้องถิ่น ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


จากนั้น เสด็จไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการ "หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2" THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ซึ่งเป็นงานเสวนาต่อเนื่อง จากการเสด็จไปทรงเป็นประธานในงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่กรุงเทพมหานคร โดยวันนี้เป็นกิจกรรม เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้แก่นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และงานดีไซน์ในระดับภูมิภาค ได้ใช้หนังสือเล่มล่าสุด เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผ้าไทย


โอกาสนี้ ทรงร่วมบรรยายและแบ่งปันประสบการณ์ ด้านแฟชั่นแก่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมพระราชทานคำแนะนำ การเลือกใช้เส้นใยให้เหมาะสมกับฤดูกาล เทคนิคการทอผ้า และเทคนิคการย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยเฉพาะคราม ซึ่งทรงเน้นย้ำถึงการใช้วัตถุดิบ ตลอดจนการผลิตทุกขั้นตอน ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน


ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย" จัดแสดงการใช้กลุ่มโทนสี ในทิศทางต่างๆ อาทิ คราม ถือเป็นโทนสีแห่งใจกลางเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์เฉดสีใหม่ ๆ ของเทรนด์ผ้าไทยในฤดูกาล Autumn/Winter 2022-2023, กลุ่มสีแดงอมม่วงกับความ ให้ความรู้สึกแห่งเสน่ห์ และความปรารถนาเปรียบเสมือนคนที่สั่งสมประสบการณ์จนเริ่มสุกงอม ปรากฏให้เห็นเป็นความเปล่งปลั่ง ดังผลไม้สุกหรือสีของไวน์แดงชั้นดี ที่ผ่านการบ่มอย่างพิถีพิถัน, กลุ่มสีครามอมเขียว ให้ความรู้สึกสุขุมนุ่มลึกมีภูมิปัญญาในแนวคิดใหม่ สร้างสรรค์ และเคารพวัฒนธรรมการยอมรับ การใช้ชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน, กลุ่มสีเหลือง เปรียบได้ดั่งแสงสีของงานเทศกาลประเพณี ในช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวของไทยสีของดอกไม้ที่ผลิบาน ในช่วงฤดูหนาวรวมถึงสีสันของเครื่องบูชา หรือสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง ที่ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศแห่งมิตรไมตรีที่มีต่อกัน


จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 52 กลุ่ม อาทิ กลุ่มผ้าทอลายโบราณ และกลุ่มเครือข่ายย้อมสีธรรมชาติ จังหวัดมหาสารคาม สาธิตการทอผ้า สาวไหม การย้อมครั่ง และเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติได้หลายเฉดสี, ผ้าไหมแพรวาลายโบราณ ของกลุ่มแพรวาโสภารักษ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทอผ้าด้วยเทคนิคจก เกาะ ขิด โดยใช้สีธรรมชาติ ทั้งยังนำลายผ้าพระราชทาน มาผสมผสานเข้ากับลายผ้าโบราณ แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม มีการนำองค์ความรู้การไล่โทนสี จากหนังสือเล่มล่าสุดมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดสีสันใหม่ที่สวยงาม, กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี มีการย้อมสีผ้าด้วยกลีบบัวแดง ได้รับรางวัลเหรียญทองพระราชทาน ประเภทผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ ในการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ โดยวันนี้ ยังมีกลุ่มกราบทูลรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 14 กลุ่ม โดยทรงมีพระวินิจฉัยในรายละเอียดของแต่ละชิ้นงาน พร้อมกับพระราชทานคำแนะนำ รวมทั้งโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า และแฟชั่น ช่วยให้คำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้า เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย สามารถใช้ได้หลายโอกาส และเป็นสากลมากขึ้น