เปิดผลเจรจาร่วม BRN เห็นชอบ 3 ข้อตกลง คาดนำสู่การลดความรุนแรง

สังคม

เปิดผลเจรจาร่วม BRN เห็นชอบ 3 ข้อตกลง คาดนำสู่การลดความรุนแรง

โดย panwilai_c

15 ม.ค. 2565

128 views

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดแถลงผลการพูดคุยกับขบวนการ BRN ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11-12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบกรอบข้อตกลง 3 ข้อ ที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไป โดยคาดว่าจะเห็นผลคืบหน้าการลดความรุนแรงภายใน 1 ปี และภายใน 2 ปี จะเห็นถึงการหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะการแสวงหาทางออกทางการเมือง ที่นำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่แท้จริงโดยมาเลเซีย ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อไป



การแถลงข่าวของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ มีขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากยังอยู่ในมาตรการกักตัว ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ หลังทั้งหมดเดินทางกลับจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้พูดคุยเพื่อสันติสุขกับคณะผู้แทน BRN นำโดยอุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน โดยตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก



พล.อ.วัลลภ เปิดเผยว่า การพูดคุยแบบพบหน้า Face to face ในรอบ 2 ปีมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นก้าวย่างสำคัญในรอบ 8 ปีของการพูดคุย ที่ปัจจุบัน เป็นการพูดคุยกับ ขบวนการ BRN นับตั้งแต่การพบกันครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี 2563 การที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบกรอบข้อตกลง 3 ข้อเป็นหลักการในการพูดคุยสารัตถะ คือ 1 การลดความรุนแรง 2 การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3 การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วม Join Working Group ในแต่ละหัวข้อ แสดงให้เห็นว่า 2 ฝ่ายได้ก้าวข้ามการไว้เนื้อเชื่อใจที่จะพูดคุยกันต่อไปแล้ว



หัวหน้าคณะพูดคุยของไทย เปิดเผยว่า การลดความรุนแรง คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าภายใน 1 ปี ส่วนจะมีความรุนแรงรูปแบบใด ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องไปกำหนดการลดกิจกรรมความรุนแรง และจะมีตัวชี้วัดอย่างไร รวมถึงแนวทางไปสู่การลงนามหยุดยิง และในห้วงปีที่ 2 นับจากนี้ เชื่อว่าจะต้องมีความชัดเจนเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพที่แท้จริง ซึ่งในหลักการจะพูดกันถึงการเมืองการปกครอง การยอมรับใน อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงการพัฒนาและเศรษฐกิจ



พลเอกวัลลภ ยืนยันว่าแนวทางการแสวงหาทางออกทางการเมืองไม่มีการพูดถึงข้อเรียกร้องเอกราช เพราะหลักการพูดคุยสันติภาพของไทย ต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญของไทยเท่านั้น ส่วนรูปแบบการทำงานยังให้มาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวก ยังไม่ระดับเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และในกาประชุมครั้งนี้มีการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะด้วย 2 คน จาก 5 คน คือ โจนาธาน พาวเวลล์ และ สิริ สแคร์ ผู้เขียวชาญด้านสันติภาพชาวอังกฤษและนอร์เวย์



ส่วนการเข้าร่วมของกลุ่มอื่นๆ เช่น มารา ปาตานี และ กลุ่มพูโล นั้น ทางคณะพูดคุยของไทย พร้อมเปิดรับ แต่ขณะนี้ยังพูดคุย กับ บีอารืเอ็น เป็นหลัก ในขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมนำข้อตกลงจากการพูดคุยไปหาแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งการลดความรุนแรงและการรับฟังในพื้นที่ที่มี 8 กลุ่มเปิดรับฟังมาตลอด

คุณอาจสนใจ

Related News