ศบค.เร่งตาม 252 ผู้เดินทาง จากประเทศกลุ่มเสี่ยง / กรมวิทย์ จับมือ ม.สงขลา ตั้งศูนย์ตรวจเชื้อโควิด-19 ภาคใต้

สังคม

ศบค.เร่งตาม 252 ผู้เดินทาง จากประเทศกลุ่มเสี่ยง / กรมวิทย์ จับมือ ม.สงขลา ตั้งศูนย์ตรวจเชื้อโควิด-19 ภาคใต้

โดย pattraporn_a

1 ธ.ค. 2564

14 views

ศบค.เร่งติดตามผู้ที่เดินทางเข้าไทยมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 สายพันธุ์โอไมครอน จากแอฟริกา จำนวน 252 คน ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดตั้งศูนย์ตรวจเชื้อโควิด 19 ภาคใต้ เฝ้าระวังสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อบริเวณชายแดน


นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. สรุปข้อมูลผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่ 1-30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 1 เดือนหลังจากเปิดประเทศ มีจำนวน 133,061 คน พบผู้ติดเชื้อ 171 คน คิดเป็น 0.13%


ส่วนกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ กลุ่ม 8 ประเทศเสี่ยงสูงจากทวีปแอฟริกา ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตีนี เลโซโท โมซัมบิก นามิเบีย และแอฟริกาใต้ ล่าสุดได้กำหนดมาตรการไม่อนุญาตให้เข้าไทยแล้วตั้งแต่วันนี้ ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย


ขณะนี้ได้เร่งติดตามผู้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ระหว่างวันที่ 15-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 255 คน ออกจากไทยไปแล้ว 3 คน ตอนนี้ยังตกค้างอยู่ 252 คน ติดตามมาได้ 11 คน


ทางกรมควบคุมโรค ได้ส่งข้อความแจ้งเตือน ขอให้มารายงานตัว เพื่อตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ฟรีในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด


นอกจากนี้กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานข้อมูลของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนว่า อาการโดยทั่วไปของผู้ติดเชื้อไม่ต่างจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ แต่ก็มีรายงานพบผู้เสียชีวิตแล้ว


ขณะที่นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่ศูนย์แห่งนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างเชื้อมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะถูกรายงานเข้าระบบ จีเซท หรือ ระบบข้อมูลกลางของโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ข้อมูลในส่วนนี้ได้


ส่วนปัญหาคุณภาพหน้ากากอนามัยที่สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สอบ. และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันตรวจสอบภายในห้องปฏิบัติการ จากการสุ่มตัวอย่างหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งตามท้องตลาดจำนวน 60 ยี่ห้อ โดยพบว่า 2 ใน 3 ของหน้ากากอนามัยที่สุ่มมาไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. และบางยี่ห้อแม้จะผ่านเกณฑ์แต่คุณสมบัติก็ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้


ด้านนายแพทย์ สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยทางการแแพทย์และหน้ากาก N95 จัดเป็นเครื่องมือเเพทย์ที่ผู้ผลิตต้องมาขออนุญาตกับทางอย.ก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 109 บริษัท และ ผู้นำเข้า 65 บริษัท ส่วนหน้ากาก N95 ทางการแพทย์มีผู้ผลิต 10 บริษัท และ ผู้นำเข้า 26 บริษัท โดยยืนยันว่าหน้ากากที่ผ่านการรับรองจากอย.ได้มาตรฐานทุกยี่ห้อ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากเลขที่ใบรับที่มีสัญลักษณ์อย.กำกับ

คุณอาจสนใจ

Related News