นักวิชาการ ห่วงผลข้างเคียง "ไฟเซอร์" ต่อร่างกายเด็กระยะยาว ชี้ไม่มีผลวิจัยเพียงพอ

สังคม

นักวิชาการ ห่วงผลข้างเคียง "ไฟเซอร์" ต่อร่างกายเด็กระยะยาว ชี้ไม่มีผลวิจัยเพียงพอ

โดย pattraporn_a

13 ต.ค. 2564

436 views

10 วันของการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ขณะที่ทางด้านนักวิชาการ กังวลผลข้างเคียงในระยะยาว ต่อร่างกายของเด็ก เนื่องจากยังไม่มีผลวิจัยเพียงพอในเด็ก


ขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศเตรียมเปิดประเทศและให้ร้านอาหารกลับมาขายแอลกอฮอล์ได้ภายในปีนี้ แต่ในส่วนของภาคการศึกษาที่หลายโรงเรียนยังคงปิดเรียน ทำได้แค่การสอนออนไลน์ในยุคนิวนอร์มอล รัฐจึงต้องเร่งฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนนักศึกษาอายุ 12-17 ปี ท่ามกลางความกังวลถึงผลข้างเคียงในระยะยาว เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับกับกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มนี้


โดยนับตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2564 หลายโรงเรียนทั่วประเทศ ต่างเร่งทยอยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหวังว่าเมื่อเด็กๆ ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากแล้ว จะสามารถกลับมาเปิดเรียนตามปกติได้


ข้อมูลล่าสุด 24 กันยายน - 12 ตุลาคม 2564 มีนักเรียน นักศึกษา อายุ 12-17 ปี ได้รับวัคซีนแล้ว 609,465 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 605,123 คน คิดเป็น 13.4% และ เข็มที่ 2 4,342 คน คิดเป็น 0.1% จากกลุ่มเป้าหมายรวม 4.5 ล้านคน


ด้านอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ยังเป็นอาการเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด เวียนศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้ และ อาเจียน ยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนอาการใจสั่น แน่นหรือเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย เป็นลม หมดสติ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อย


ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่ผ่านมาประเทศไทยพบ 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน อาการไม่รุนแรงและรักษาหาย


ขณะที่ความเห็นของการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน


โดย นายแพทย์ อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กรรมการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เด็กเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อไม่รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตที่น้อย เนื่องจากร่างกายยังมีระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดดีอยู่ ซึ่งการนำเด็กไปฉีดวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาว จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดผลข้างเคียงในอนาคตตามมา


ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระหว่าง 1 เมษายน - 13ตุลาคม 2564 ในจำนวนผู้ติดเชื้อ กว่า 1 ล้าน 7 แสนคน พบมีเด็กอายุ 10-19 ปี ติดเชื้อ 152,290 คน คิดเป็น 9% ในอัตราส่วนของผู้ชายต่อผู้หญิง 1.1 ต่อ 1 คน


ปัจจุบันวัคซีนไฟเซอร์ถูกนำมาใช้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ในสหรัฐอเมริกา และ หลายประเทศในยุโรป เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเเละเยาวชน โดยมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาได้89.5% เบต้า 75%


และล่าสุดมีผลวิจัยในอังกฤษว่าป้องกันเดลต้าได้ 93% ใน 1 เดือนแรกและลดลงมาเหลือต่ำกว่า 60% ใน 4 เดือนถัดมา ซึ่งกรมควบคุมโรคยืนยันผู้ปกครองและนักเรียนสามารถศึกษาข้อมูลของวัคซีนประกอบการตัดสินใจฉีดได้ โดยไม่ได้เป็นการบังคับฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

คุณอาจสนใจ

Related News