ติดโควิดยกบ้าน 15 คน ไม่ได้รับรักษา แม่วัย 54 ทรุดหนัก ช่วยกันหามขึ้นท้ายรถกระบะส่ง รพ.สุดท้ายสิ้นใจ

สังคม

ติดโควิดยกบ้าน 15 คน ไม่ได้รับรักษา แม่วัย 54 ทรุดหนัก ช่วยกันหามขึ้นท้ายรถกระบะส่ง รพ.สุดท้ายสิ้นใจ

โดย thichaphat_d

2 ส.ค. 2564

32 views

วานนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนางสาวนิตยา(สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ว่าตนอาศัยอยู่ที่บ้านในซอยประชาร่วมใจ 63 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ คนในบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีพ่อแม่ พี่ชาย น้องสาวน้องเขย ลูก ๆ หลาน ๆ ติดเชื้อโควิดรวมทั้งหมด 15 คน ล่าสุดวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา คุณแม่คือนางสุกัญญา อายุ 54 ปีได้เสียชีวิตลง ที่เหลืออีก 14 คน กักตัวอยู่ที่บ้านยังไม่ได้เข้ารับการรักษา


นางสาวนิตยา เผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พ่อ แม่ น้องสาว น้องเขย พากันไปตรวจหาเชื้อโควิดปรากฏว่าทั้ง 4 คน ผลเป็นบวก/ จากนั้นวันที่ 24 ก.ค. ทุกคนในบ้านอีก 11 คน พากันไปตรวจหาเชื้อที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา ทราบผลวันเดียวกันพบว่าติดเชื้อโควิดทุกคน


หลังจากนั้นพวกตนกลับมาที่บ้านและแจ้งประธานและคณะกรรมการชุมชน ซึ่งคอยส่งข้าวส่งน้ำและยามาให้กินเพื่อบรรเทาอาการ ระหว่างนั่นตนพยายามติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข 64 ว่าหากจะให้ไปอยู่ศูนย์พักคอยต้องได้ไป 15 คน ขณะนั้นคุณแม่ ยังเป็นผู้ป่วยสีเขียวอาการยังไม่แย่ ทางศูนย์ฯ แจ้งว่าทุกคนจะได้ไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยด้วยกันทั้งหมด


ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยโทรมาแจ้งว่า จะให้เด็ก ๆ 8 คน คุณพ่ออีก 1 คน รวมเป็น 9 คน เท่านั้นเข้าไปอยู่ที่ศูนย์พักคอย ตนจึงขอยกเลิกและแจ้งความประสงค์ขอรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ขอเข้าสู่ระบบ Home Isolation เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวพูดว่า “เวลาได้ไปก็ไม่ไปกัน ปวดหัวว่ะ” ตนจึงบอกไปว่าที่ยกเลิกไม่ไปเพราะเป็นห่วงเด็ก ๆ อีกทั้งลูกของตนเองเป็นหอบ กลัวไม่มีใครดูแล อยากเอาทุกคนไปรักษาที่เดียวกันจะได้ช่วยดูแลกันได้


จากนั้นตนโทรไป 1330 ทราบว่าชื่อคนในครอบครัวยังไม่เข้าสู่ระบบ Home Isolation แม้แต่คนเดียว จึงติดต่อไปเพจเราต้องรอด นำยาและอาหารมาส่งให้ แล้วติดต่อไปเพจเส้นด้าย ทีมอาสาเส้นด้ายยื่นมือมาช่วยเหลือ ประสานไปยังสำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข 64 เจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ว่าจะมารับตัวคุณแม่ไปรักษา แต่ไม่ได้พาไปโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแต่อย่างใด จะพาไปที่ศูนย์พักคอย


ตนถามเจ้าหน้าที่ว่าพาแม่ ไปศูนย์พักคอยมีออกซิเจนหรือไม่ เจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่มี จึงไม่ให้แม่ไปอยู่ที่ศูนย์ดังกล่าว /บ่ายวันที่ 31 ก.ค. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 นำยาฟาวิพิราเวียร์ มาให้แม่ ตนถามว่า “นำมาให้แม่คนเดียวแล้วอีก 14 ชีวิตล่ะ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับว่า “เชื้อยังไม่ลงปอดพวกคุณยังไม่ต้องกินยา ยาจะให้เฉพาะคนที่เชื้อลงปอด” ตนก็ไม่รู้ว่าคุณแม่เชื้อหลงปอดหรือไม่เพราะไม่มีการตรวจเอกซเรย์ใด ๆ


นางสาวนิตยา เผยต่อว่า ก่อนที่คุณแม่จะเสียชีวิตวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว 50-72 คุณแม่บอกว่าเหนื่อย 5 โมง วันที่ 31 ก.ค. ตนถามว่าจะไปหาหมอมั้ย แม่ตอบว่าไป ตนจึงประสานหารถ จากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อหารถได้บางหน่วยงานโทรไปไม่รับโทรศัพท์


ช่วงค่ำเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ตนโทรกลับไปที่อาสากลุ่มเส้นด้ายเพื่อแจ้งว่าแม่น็อคนิ่งไปแล้ว จากนั้นโทรไป 191 เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเยอะมาก จึงไม่ตอบคำถาม สงสารแม่เพราะขนาดนั้นอาการของแม่กำลังแย่ วางโทรศัพท์และช่วยกันนำตัวคุณแม่ ขึ้นท้ายรถกระบะ ไปที่โรงพยาบาลหนองจอก


“คุณแม่ไม่มีสติแล้ว ตนพาไปโรงพยาบาลเผื่อมีปาฏิหาริย์และอยากให้ทางโรงพยาบาลช่วยชีวิตคุณแม่มันสุด ๆ แล้วแม่สุดหนักตนจึงนำรถส่วนตัวไปกันเอง ทั้ง ๆ ที่พวกตนติดเชื้อโควิด พอไปถึงโรงพยาบาลก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าพวกตนมีผลบวกทุกคน เจ้าหน้าที่บอกว่าชีพจรคุณแม่หยุดเต้นแล้ว ตนอ้อนวอนให้ช่วยปั๊มหัวใจเผื่อแม่จะฟื้นขึ้นมา” หมอระบุว่าจะช่วยปั๊มหัวใจ 35 - 45 นาที ถ้าชีพจรไปขึ้นหมอก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมาโรงพยาบาลช้า


ลูกสาวของผู้เสียชีวิต ระบุว่า คุณแม่เสียชีวิตก็เหมือนทุกอย่างจบลง ถ้ายามาไวกว่านี้คุณแม่อาจไม่เสียชีวิต เพราะตอนที่ประสานไปศูนย์บริการสาธารณสุข 64 เจ้าหน้าที่บอกให้รอคิว ทั้งที่อาการของคุณแม่เริ่มแย่แล้ว ถึงคิวแล้วเดี๋ยวก็ได้ยาเอง “ตอนเจ้าหน้าที่ส่งยาฟาวิพิราเวียร์ มาให้ หนูดีใจคิดว่าแม่หนูจะต้องรอด แต่เอาเข้าจริง ๆ มันมาช้าเกินไป”


“หนูอยากได้ยาฟาวิพิราเวียร์ มากิน เพราะถ้าพวกหนูได้ยามากิน อาจไม่ต้องสูญเสียใครในครอบครัวไปอีกถ้าไม่ได้กินยาหรือไม่ได้รับการรักษาอาจต้องสูญเสียใครอีกสักคนก็ได้ ตอนนี้พวกตนยาฟาวิพิราเวียร์ มากินรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน เพราะพวกตนปฏิเสธเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามแล้ว”


ลูกสาวผู้เสียชีวิต กล่าวว่า หลังจากคุณแม่เสียชีวิต ทุกคนในครอบครัวทำอะไรไม่ถูก คุณพ่อนั่งเศร้าทั้งวัน ตอนที่คุณแม่อาการทรุดหนักคุณพ่อนั่งเฝ้าไปห่างคอยป้อนข้าวป้อนยา ตอนนี้อาการของคุณพ่อเริ่มแย่ เป็นห่วงพ่อกลัวเป็นเหมือนแม่ ถ้าไอหนัก ๆ จะหอบเหนื่อย “ตอนนี้ตนไม่ได้ติดต่อหน่วยงานไหนแล้ว ติดต่อไปเขาก็ไม่มาช่วย ไม่มีความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือ มันหมดความหวังตั้งแต่ที่แม่ของตนเสียชีวิตแล้ว”


เมื่อวานนี้ (1 ส.ค.) พอฝังศพแม่เสร็จตามศาสนาอิสลามทุกคนอยู่ในอาการเสียใจ นำผ้าใบมาปูนั่งรวมตัวกันอยู่หน้าบ้าน นำเชือกมาขึงกั้นไว้ ใครนำอาหารมาส่งก็นำมาวางไว้ที่โต๊ะหน้าบ้าน หากอยากกินหรืออยากได้อะไรก็จะโทรบอกหลานซึ่งอยู่บ้านอีกหลังหนึ่งไปซื้อให้ ทีมข่าวลงพื้นที่ก็ได้นำสิ่งของที่ได้รับบริจาคผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ไปส่งมอบให้ อาทิ หน้ากากอนามัย ฟ้าทลายโจร กระชายขาว ยาแก้ปวดลดไข้


ด้านอาสากลุ่มเส้นด้าย ระบุว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเข้าไม่ถึงโอกาสการรักษา ซึ่งกลุ่มแบบนี้มีมาก คำว่า Home Isolation จริง ๆ ตนอยากให้ผู้มีอำนาจ กลับไปลองคิดกันอีกทีว่า “วันนี้มันทำกันได้จริงมั้ย” ข้อตกลงจะต้องมีแพทย์เข้าถึงผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ส่งอาหารสามมื้อและยาที่จำเป็น ผู้ป่วยหลายคนคาดหวังจะได้รับการดูแลอย่างนี้แต่สภาพความเป็นจริงไม่มี


“คนที่นั่งรอซึ่งรู้ตัวเองว่าอยู่ในภาวะติดเชื้อเขาจะอยู่กันอย่างไร สภาพจิตใจจะเป็นยังไง ถ้าได้คุยกับหมอสักนิดสภาพจิตใจอาจดีขึ้น อาการอาจไม่สุดเร็ว แต่วันนี้ไม่มีเสียงตอบรับใด ๆ จากทุกหน่วยงาน ตนบอกว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ”



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/7HW4pva5ReA

คุณอาจสนใจ