ดราม่าล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด สรรพสามิตยันไม่ได้เรียกค่าปรับ ล่าสุดสั่งย้าย จนท. ชี้ไม่มีนโยบายรังแก ปชช.ช่วงลำบาก

สังคม

ดราม่าล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด สรรพสามิตยันไม่ได้เรียกค่าปรับ ล่าสุดสั่งย้าย จนท. ชี้ไม่มีนโยบายรังแก ปชช.ช่วงลำบาก

โดย thichaphat_d

17 มิ.ย. 2564

987 views

สมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Ni Pornnipa ได้โพสต์เรื่องราวสุดช้ำใจเผยให้เห็นแชทที่มีลูกค้าทักมาสั่งน้ำส้ม 500 ขวด เป็นเงินจำนวน 6,400 บาท โดยทำการนัดกันที่ร้านเพื่อรับสินค้าและจ่ายเงินสด แต่กลับกลายเป็นแผนล่อซื้อ ชายที่มาล่อซื้อใส่ชุดข้าราชการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต และถูกเรียกค่าปรับ 12,000 บาท


ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังแม่ค้าคนดังกล่าว ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์เพิ่มเติมเติมว่า กลุ่มชายทั้ง 6 คน ทำทีมานั่งทานสเต็กในร้าน บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต แล้วก็เข้าไปดูของในร้านว่ามีน้ำอะไรบ้าง ก่อนจะถามว่าน้ำมีใบอนุญาตหรือไม่ จึงบอกไปว่าตนขายออนไลน์มานานหลายปีแล้วไม่ได้ทำขายแบบโรงงานใหญ่เลยไม่รู้ว่าต้องทำใบอนุญาต ไม่เคยโดนล่อจับ จากนั้นเขาก็นับน้ำส้มทั้งหมดและคิดคำนวนค่าปรับ


แม่ค้าคนดังกล่าว ระบุอีกว่า ก่อนที่กลุ่มชายดังกล่าวจะเข้ามาที่ร้าน ตนได้ทักแชทเฟซบุ๊กไป สอบถามว่า “จะมารับกี่โมง จะเด็กเอาออกมารอไว้ที่หน้าร้าน” และถามย้ำไปว่าจะมารับจริงใช่ไหม แต่เขาไม่ตอบจากนั้นก็บล็อคเพจของร้าน ตนจึงใช้เฟซคนอื่นเข้าไปส่องดูชื่อเฟซบุ๊กคนที่ติดต่อมาสั่งซื้อน้ำส้ม


พบว่าชายคนดังกล่าวแต่งกายเป็นเจ้าหน้าสรรพสามิต บางภาพพบว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ที่มาล่อซื้อน้ำส้ม จึงคิดว่าตนเองโดนแล้ว จากนั้นไม่นานกลุ่มคนดังกล่าวก็เข้ามาที่ ร้านขอตรวจสอบและจะปรับ ขณะนั้นตนไม่ได้อยู่ในร้าน มีเพียงลูกน้อง จึงให้ลูกน้องสอบถาม ว่าจะปรับเท่าไหร่ ตนเองเป็นดูกล้องวงจรปิดผ่านโทรศัพท์มือถือและแคปภาพไว้


ส่วนเงิน 12,000 บาท ที่เสียไปไม่คิดว่าจะได้คืนก็คงปล่อยให้เรื่องจบไป ต่อมาเจ้าตัวได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “โทรไปถามที่กรมสรรพสามิตมาแล้ว ไม่ต้องมีใบอนุญาตได้ เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ขายของเล็ก ๆ ปกติ ขอบคุณทุกออเดอร์ที่ให้ความช่วยเหลือขอบคุณสื่อทุกสื่อที่ติดต่อนะ แต่เราไม่สะดวกจริง ๆ ที่โพสต์ลงไปเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนตัวเองและแม่ค้าด้วยกัน ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด ๆ ทั้งสิ้น ใครทำอะไรไว้ขอให้ได้รับผลกรรมนั้น”


ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ออกเอกสารชี้แจงว่าได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เสียภาษีอย่างถูกต้องว่า มีบางโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต นำไปขายยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งกรมสรรพสามิตได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิต เข้าทำการตรวจสอบและได้ดำเนินการให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเข้าระบบของกรมฯ และเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว จำนวน 4 ราย ในพื้นที่เลียบทางด่วนรามอินทรา


ซึ่งรายนี้ (เคสน้ำส้ม) เป็นรายที่ 5 ที่ได้รับการแจ้งเบาะแส โดยโรงอุตสาหกรรมของผู้ใช้เฟซบุ๊ก รายดังกล่าว ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต จึงได้ทำการให้คำแนะนำเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบและเสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน จำนวน 12,000 บาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด


โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้มอบนโยบายไปยังเจ้าหน้าที่กรม สรรพสามิต ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารพร้อมทั้งให้คำแนะนำไปยังผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ


ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์โฆษกกรมสรรพสามิต ขอข้อมูลเพิ่มเติมกรณีล่อซื้อน้ำส้มเผยว่า ยืนยันเป็นข้าราชการกรมสรรพสามิตจริง มาจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ฝ่ายตรวจสอบป้องกันและปราบปราม พร้อมระบุว่าสินค้าที่เป็นเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องน้ำบำรุงกำลัง เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ผู้ผลิตที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบอุตสาหกรรม ต้องมีการจดทะเบียน หากผลิตคั้นเองดื่มเองได้รับการยกเว้น


ไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน 12,000 บาท แต่อย่างใด สามารถตรวจสอบได้ การจะปรับได้ต้องมีเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน หากปรับจริงหรือเรียกรับเงินตามที่แม่ค้ากล่าวอ้าง ให้นำหลักฐานมาโชว์ เจ้าหน้าที่แค่ประเมินคราว ๆ ให้ทางร้านฟัง ซึ่งอาจไม่ถูกที่ไปประเมินคราว ๆ ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่เพราะจะมีเบี้ยปรับกับเงินเพิ่ม แต่กรณีร้านน้ำส้มเจ้าหน้าที่มองว่ามีไว้เพื่อขาย จึงปรับสูงสุด 10 เท่า ของ 1,200 บาท แค่อธิบายให้ฟังไม่ได้ปรับ


อย่างไรก็ตามการเสียภาษีสินค้านั้น จะต้องนำไปตรวจวิเคราะห์ก่อนมีปริมาณความหวานเท่าไหร่ มีสัดส่วนน้ำผลไม้เท่าไหร่ เมื่อตรวจเสร็จแล้วจึงจะทราบว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ หลักเกณฑ์ไม่ได้อยู่ที่ร้านเล็กร้านใหญ่ อยู่ที่วิธีการผลิต ถ้าทำเอง ดื่มเอง ขายเองที่ร้าน 10 ขวด 20 ขวดนั้นไม่ต้องเสียภาษี อย่างนี้ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าผลิตเพื่อจำหน่ายในแง่อุตสาหกรรม มีการปิดผนึกติดฉลากส่งไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้องเสียภาษีสรรพสามิต


กรณีร้านน้ำส้ม ตนไม่ได้เห็นสถานที่ แต่ทางร้านผลิตในปริมาณมาก 500 ขวด เป็นการผลิตในลักษณะโรงงานอุตสาหกรรม แม้ไม่ใช่โรงงานใหญ่โต แต่เป็นการทำเชิงอุตสาหกรรมต้องจดทะเบียน จะเสียภาษีเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของน้ำนั้น ๆ ทั้งนี้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมบางรายยังไม่เข้าใจเรื่องของกฎหมายการจดทะเบียนเสียภาษี


ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ต้องสั่งให้แม่ค้าผลิตเยอะถึง 500 ขวด แล้วไปล่อซื้อ โฆษกกรม สรรพสามิต กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดที่ไปล่อซื้อเขาต้องการทราบว่า ร้านนี้เข้าข่ายเป็นโรงงาน อุตสาหกรรมหรือไม่ หากไม่ทำแบบนี้ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าร้านดังกล่าวเปิดผลิตน้ำส้มบรรจุขวดแบบไหน


ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังแม่ค้าส้มอีกครั้งว่าเสียค่าปรับ 12,000 บาท จริงหรือไม่เพราะโฆษกกรม สรรพสามิต ชี้แจงยืนยันไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน ทางแม่ค้าบอกว่า “ไม่ให้สัมภาษณ์เพราะไม่มีหลักฐาน พี่ผิดตรงที่ไม่มีหลักฐานเท่านั้นเอง ไม่สะดวกให้ข้อมูลอะไร” เมื่อขอดูคลิปวงจรปิดในร้านเพื่อตรวจสอบว่ามีการจ่ายเงินจริงหรือไม่ แม่ค้าบอกให้ดูไม่ได้ มีแต่ภาพนิ่งท่าตนแคปไว้ จากนั้นก็ตัดสายไป


ล่าสุดมีรายงานว่า นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ทั้ง 6 คน ที่ไปล่อซื้อน้ำส้ม ให้ไปประจำที่สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 10 พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบขอเท็จจริง ประเด็นเรียกรับเงินหรือไม่หรือประพฤติผิดอะไรนอกเหนือกฎหมายหรือไม่ เพื่อความโปร่งใส หากไม่พบความผิดก็ส่งกลับที่เดิม โดยคำสั่งมีผลวันนี้ (17 มิ.ย.)


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/d8oKH7G_2Hs

คุณอาจสนใจ

Related News