'น้องน้ำค้าง' สาววัย 29 ยังนอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา หลังฉีดซิโนแวค แพทย์ยันไม่เกี่ยวกับวัคซีน

สังคม

'น้องน้ำค้าง' สาววัย 29 ยังนอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา หลังฉีดซิโนแวค แพทย์ยันไม่เกี่ยวกับวัคซีน

โดย pichaya_s

12 มิ.ย. 2564

4K views

นครราชสีมา - ความคืบหน้ากรณี นางสาวทิศกร พันธ์สำโรง หรือ น้องน้ำค้าง อายุ 29 ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา และภายหลังฉีดไป 2 วัน เกิดเป็นลมล้มลงหมดสติขณะเดินซื้อของภายในตลาด


ผลเอ็กซเรย์พบมีเลือดออกในโพรงสมอง และมีความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ ขณะนี้อาการยังไม่รู้สึกตัว ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางญาติเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือให้นางสาวทิศกร กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น


ล่าสุดวานนี้ (11 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบ นางเมือง พันธ์สำโรง อายุ 47 ปี แม่ของน้องน้ำค้าง ซึ่งได้เปิดเผยว่า ขณะนี้อาการของน้องน้ำค้างยังทรงตัวเหมือนกับวันแรกที่เข้ามารับการรักษา คือยังไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้ นอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งตนรู้สึกเป็นห่วงลูกสาวมาก และหากปาฏิหาริย์มีจริง อยากให้น้องน้ำค้างฟื้นขึ้นมา ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ให้น้องน้ำค้างไปฉีดวัคซีนเลย ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ ก็ยังไม่มีใครเข้ามาดูแล มีแต่ส่วนราชการในพื้นที่เท่านั้นที่เข้ามาดูแล ซึ่งขณะนี้น้องไดมอนด์ลูกชายของน้องน้ำค้าง อายุ 1 ปี 5 เดือน ยังคงร้องไห้คิดถึงแม่อยู่ตลอดเวลา


นายแพทย์ นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคพบว่า อาการของน้องน้ำค้างไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 เพราะจากผลการ CT Scan สมอง และตรวจ MRI น้องน้ำค้างมีภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด


ซึ่งผลการตรวจ และซักประวัติผู้ป่วยเดิม น้องน้ำค้างอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม Intracranial Arterio venous Malformation (AVM) คือ ภาวะที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง คือ ระบบเส้นเลือดแดง กลายเป็นรอยโรค ที่เป็นกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติไปเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบเลือดดำ โดยไม่ผ่านระบบหลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดบริเวณนั้นมีการไหลที่รุนแรง และมีความต้านทานต่ำ จึงมีโอกาสเกิดการปริแตก และมีเลือดออกบริเวณนั้นได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยปกติโรคนี้เป็นโรคที่เป็นมาตั้งแต่เกิด แต่อาจพบความเกี่ยวข้องกับโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น


ชมผ่านยูทูบที่ : https://youtu.be/6UVRNkyoRH8

คุณอาจสนใจ

Related News