ในหลวง-พระราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์-เปิดอาคารที่ทำการศาล จ.พิษณุโลก

พระราชสำนัก

ในหลวง-พระราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์-เปิดอาคารที่ทำการศาล จ.พิษณุโลก

โดย weerawit_c

13 มี.ค. 2564

51 views

เวลา 17.55 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 46 ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โอกาสนี้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จในการนี้ด้วย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยคณะข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างพร้อมเพรียง โดยพลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ จากนั้นได้ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร



เวลา 18.28 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย เจ้าคุณพระสินีสาฏพิลาสกัลยาณี ไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองพิษณุโลก



ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธชินราช พระประธานที่ประดิษฐานในพระวิหาร แล้ว ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระรูปพระพี่นางสุพรรณกัลยา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ "วัดใหญ่" หรือ "วัดพระพุทธชินราช" สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เนื่องจากพบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัย ว่าประมาณปี 1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พญาลิไท แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงสร้างขึ้น ต่อมาปี 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ภายในวัด มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญ อาทิ พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง เป็นที่ประดิษฐานของ "พระพุทธชินราช" พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก มีพุทธลักษณะงดงาม และเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน องค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช สวมนพรัตน์สังวาล ทำด้วยทองคำสลักดุนมือ ประดับพลอย น้ำหนัก 13 กิโลกรัม ที่ประชาชนจัดสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปกร ปัจจุบัน มีพระพุทธิวงศมุนี เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์จำพรรษา 74 รูป สามเณร 220 รูป



โอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัด ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ,สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และเจ้าคุณพระสินีนาฏพิลาสกัลยาณี จากนั้นประทับรถยต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนิน ไปยังที่ทำการศาลจังหวัดพิษณุโลก โดยมีประชาชนมารอ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ อย่างเนื่องแน่น ตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน



เวลา 18.41น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อาคารที่ทำการศาลจังหวัดพิษณุโลก ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล จากนั้น ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นอิฐ ทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ และทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเดิมมีชื่อว่า”ศาลมณฑลพิศณุโลก” สร้างขึ้นเมื่อปี 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมชั้นเดียวยกพื้นสูง ต่อมาในปี 2475 ได้เปลี่ยนชื่อจากศาลมณฑลพิศนุโลก เป็นศาลจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งในปี 2555 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ โดยใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือตอนล่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นสีขาวทั้งหลัง สูง 4 ชั้น ขนาด 14 บัลลังก์ เพื่อรองรับการขยายงาน และปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้น เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน สมแก่เกียรติศักดิ์แห่งสถาบันศาลยุติธรรม ซึ่งใช้อำนาจตุลาการภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ โดยเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2559 มีอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดี ในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก 9 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอชาติตระการ, อำเภอนครไทย, อำเภอเนินมะปราง, อำเภอบางกระทุ่ม, อำเภอบางระกำ, อำเภอพรหมพิราม, อำเภอเมือง, อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์ ปัจจุบัน ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และคู่ความในคดี โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนสามารถดำเนินคดีได้หลายช่องทาง เช่น การยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ไฟล์ลิ่ง (e-filing) และการขอไกล่เกลี่ยออนไลน์



โอกาสนี้ ทรงพระดำเนินไปยังพระอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงวางพุ่มดอกไม้ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย จากนั้น ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ



จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแผ่นศิลาเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย