ประชาสัมพันธ์

นิเทศจุฬาฯ จับมือสมาคมนักข่าวฯ ดันนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ

โดย paweena_c

5 ส.ค. 2567

55 views

นิเทศ จุฬาฯ จับมือสมาคมนักข่าวฯ ผลักดันนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ หวังยกระดับมาตรฐานการทำงานของสื่อ โดยเริ่มจากการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยผลักดันการสร้างนโยบาย และกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ

งานเสวนานโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2567 เวลา 13:00-15:00 น. ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาทั้งหมด 8 ท่าน จากภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคสื่อมวลชน ประกอบไปด้วย องค์กรสิทธิ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องเพศและความเท่าเทียม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ เพศสถานะ เพศวิถี และความหลากหลายทางเพศ ตัวแทนจากวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ

วิทยากรที่ร่วมเสวนา
คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล
ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ธรรมศาสตร์
คุณรัตนา ด้วยดี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล
คุณอุษา มีชารี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
คุณปวีณา ชูรัตน์ 3PlusNews
คุณสุเมธ สมคะเน ไทยรัฐ


ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงานถือเป็นปัญหาระดับโลก สิ่งที่องค์กรมักลืมและควรตระหนักคือ ต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการคุกคามทางเพศในองค์กรนั้น คือประเด็นเดียวกับการคุกคามทางเพศโดยทั่วไป

คำสำคัญคือ "การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation) โดยใช้อำนาจในองค์กร" การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทำให้เกิดความชัดเจนว่าการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อไม่ใช่การคุกคามทางเพศทั่วไป แต่มีราคาที่ทุกคนในองค์กรต้องจ่าย มีการได้และเสียประโยชน์ ผ่านการใช้เรื่องเพศสร้างประโยชน์แอบแฝง และไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะคู่กรณี แต่ทุกคนในองค์กรได้รับผลกระทบ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในองค์กรและรวมทั่งสังคมได้รับผลกระทบทั่วกัน

ดร.ชเนตตี ย้ำว่า สื่อจะเรียกร้องความเท่าเทียมให้คนในสังคมได้อย่างไร ถ้าองค์กรยังขาดธรรมาภิบาลและมีการคุกคามทางเพศอยู่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทรงพลังในด้านผลกระทบ สื่อจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานในวิชาชีพสื่อ


คุณอุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าองค์กรสื่อควรตระหนักเรื่องเพศและการคุกคามทางเพศ เพราะคนทำข่าวเรียกร้องสิทธิให้คนอื่นแต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง สื่อต้องผลักดันประเด็นนี้เพื่อคืนกลับสิทธิและเสรีภาพให้กับสื่อเอง เพื่อนักข่าวสามารถเรียกร้องสิทธิให้กับสังคมต่อไป

คุณสุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่าหากพี่น้องผู้สื่อข่าวถูกคุกคามทางเพศ หรือมีปัญหาเรื่องนี้ ทุกคนสามารถเดินมาหาหรือหลังไมค์มายังสมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหรือสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เรายินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกคน เราจะเป็นตัวกลางและช่องทางประสานงานทางด้านกฎหมายให้พี่น้องสื่อ และเคยพูดคุยในประเด็นนี้กับทางสมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า อยากจัดทำโครงการอบรมการทำข่าวอย่างปลอดภัยสำหรับนักข่าวผู้หญิง โดยมีการสอนวิธีป้องกันหลายระดับให้กับนักข่าวผู้หญิงแต่ตอนนี้ยังขาดแหล่งทุน

การจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ได้รับการร่วมมือระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม เสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานสื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงกลไกและนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ

คุณอาจสนใจ

Related News