เลือกตั้งและการเมือง

‘เศรษฐา’ เชื่อ ‘ก้าวไกล’ เคารพคำตัดสินศาลรธน.ไม่ปลุกระดม เมินสหรัฐฯ-ยุโรป คัดค้านยุบพรรค

โดย petchpawee_k

9 ส.ค. 2567

16 views

นายกฯ เชื่อก้าวไกล เคารพคำตัดสินศาลรธน. ไม่ปลุกระดมจนวุ่นวายหลังโดนยุบพรรค บอกคุยฝ่ายความมั่นคงแล้ว มองเป็นการแสดงจุดยืนเดินหน้าการเมือง ชี้มะกันค้านไม่มีความหมาย ลั่นไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่มีใครยอมให้ก้าวก่าย ขณะที่ สนง.สิทธิมนุษยชนยูเอ็น 'ไม่สบายใจ' กับคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความไม่สบายใจต่อการที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำพิพากษายุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรค ขณะที่ สมาชิกของพรรคเตรียมพร้อมเปิดตัวพรรคใหม่และทีมผู้บริหารใหม่แล้ว

นายโวลเกอร์ เทิร์ค ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย “ทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก และบั่นทอนกระบวนการทางประชาธิปไตย และจำกัดความเป็นพหุนิยมทางการเมือง”

เทิร์ค กล่าวว่า กลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้แสดงความรู้สึกกังวลต่อการอ้างมาตรา 112 ของกฎหมายอาญาไทยในการสกัดกั้นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวจนนำมาถึงการสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และชี้ว่า ควรมีการทบทวนจุดนี้

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ระบุด้วยว่า “การตัดสินใจนี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่อการแสดงออกและการสมาคม และแต่สิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะและชีวิตทางการเมืองในประเทศไทย” และว่า “ไม่มีพรรคหรือนักการเมืองใดควรต้องเผชิญกับบทลงโทษเช่นนั้น จากการเคลื่อนไหวผลักดันอย่างสันติเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน”

ขณะที่ นายเบน คาร์ดิน วุฒิสมาชิกสหรัฐ ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา ออกแถลงการณ์ ประณามการยุบพรรคก้าวไกลในไทย  ชี้คำวินิจฉัยยุบ พรรคก้าวไกล ส่งผลให้ประชาชนไทยหลายล้านคนที่ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งปี 2566 ถูกตัดสิทธิ ชี้ตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และห้ามผู้นำระดับสูงดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเป็นเวลา 10 ปี ถือเป็นการโจมตีระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างรุนแรง

---------------------------------------

เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล  หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ที่เหมือนเป็นการปลุกระดม ว่า ตนคิดว่าอย่าใช้คำว่าปลุกระดม และคิดว่าไม่ใช่ความตั้งใจของพรรคก้าวไกล ที่จะให้เกิดความวุ่นวายหรือปลุกระดม แต่เป็นการแสดงจุดยืน และตนเข้าใจว่าเป็นการประกาศที่จะเดินหน้าการเมืองต่อไป ก็ขอให้กำลังใจในการที่จะต้องทำงานต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของทางการเมืองไป และตนได้พูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงแล้ว ก็ไม่ได้มีข่าวอะไร ที่ทำให้เราจะต้องระมัดระวังในการปลุกระดม หากจะใช้คำนี้ไม่มีว่าหรอก และตนก็มั่นใจทางพรรคก้าวไกลเคารพการตัดสินของศาล และมีแนวทางการเดินต่ออย่างถูกต้องตามวิถีการเมืองที่ต้องเดินต่อไป


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7ส.ค.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ได้มารายงานเรื่องการชุมนุมหลังศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นไปด้วยความสงบทุกๆฝ่าย


ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทย นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าเราเป็นประเทศที่มีเอกราช เรื่องการออกมาคัดค้านอะไร มันไม่มีความหมายอะไรหรอก เพราะเราเป็นประเทศที่มีเอกราช เรามีวิถีการพัฒนาเรื่องของการเมือง เรื่องของระบอบประชาธิปไตยของเราให้เป็นไปตามขั้นตอนที่มันถูกต้อง สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยก็แก้กฎหมายกันไป  ตามวิถีของรัฐสภาอยู่แล้ว


"ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนเข้าใจตรงนี้ เราคงไม่มีใครยอมให้ประเทศอื่นมาก้าวก่าย เรื่องอธิปไตยของเราหรอก ทั้งนี้อย่าใช้คำว่าก้าวก่ายดีกว่า ผมว่าเขาอาจจะมาเสนอแนะ เราอยู่ด้วยกันในโลกที่มีความเปราะบาง ฉะนั้นเราก็ต้องบริหารกันไป "นายกฯกล่าว


เมื่อถามว่า กระทรวงการต่างประเทศจำเป็นจะต้อง ชี้แจงให้เขาเข้าใจในบริบทของประเทศไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวในช่วงบ่ายกระทรวงการต่างประเทศก็จะมีการแถลงข่าว ซึ่งตนได้ดูแล้วก็เป็นถ้อยคำที่โอเค ไม่ก่อให้เกิดการระหองระแหง ขอใช้คำนี้ดีกว่า เขาก็เป็นประเทศที่ใหญ่ ก็มีความเป็นห่วง และเป็นความปรารถนาดี ส่วนเราก็มีวิธีการเดินของเรา


เมื่อถามต่อว่า ภาคเอกชนแสดงความเป็นห่วงการเมืองช่วงเดือนสิงหาคม นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน แต่ก็จบไปแล้วอันหนึ่ง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน ยังมีความเป็นห่วงเป็นใยอยู่ของตนเอง วันที่ 14 สิงหาคม อย่างที่ตนเรียนไปแล้วว่าได้ส่งเรื่องไปที่ศาลเรียบร้อย ก็ไม่อยากจะมาพูดอะไร ด้วยความเคารพเชื่อว่าทางศาลรัฐธรรมนูญก็เตรียมการพิจารณาอยู่ วันที่ 14 สิงหาคม ก็คงจะทราบเรื่อง ส่วนวันนี้ตนก็ยังทำงานอยู่ตามปกติ และในวันที่ 14 สิงหาคม ก็ยังทำงานปกติ


เมื่อถามว่า ยิ่งใกล้วันที่ 14 สิงหาคม ไม่ได้ทำให้การทำงานต้องลังเลใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวยอมรับว่า ตนกังวล แต่ก็ไม่ได้ลดหรือเลื่อนตารางการทำงาน ยังคงทำงานอยู่ตลอด


เมื่อถามอีกว่า ภาคเอกชน ไม่ได้เป็นห่วงคดีพรรคก้าวไกล เท่ากับคดีของนายกฯ เพราะเป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นที่จะมีผลต่อภาคเอกชน นายกฯ กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ ไม่อยากจะไปพูดอะไรที่เป็นการชี้นำ ให้คณะทำงานต้องเป็นห่วง แต่ละองค์กร แต่ละคนมีหน้าที่ ตนขอให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่ยังต้องทำอยู่


เมื่อถามว่า หากดูจากตารางงานนายกฯ ยาวเลยวันที่ 14 สิงหาคม นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการอะไรทั้งสิ้น การทำงานต้องมีการแพลนล่วงหน้า ไม่ได้เป็นการชี้นำหรือคาดหวังอะไร ตรงนี้ต้องขอให้เข้าใจด้วย


เมื่อถามต่อว่า จะฝากอะไรไปถึงประชาชนให้มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกท่านมีการสื่อสารกันดีอยู่แล้ว และรู้หน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว การตัดสินของศาลเราเคารพการตัดสินใจของศาลอยู่ ซึ่งตนพูดมาโดยตลอดตรงนี้


เมื่อถามว่า ตำแหน่งรองประธานสภาที่ว่างลง จะให้พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ได้คุยกับพรรคเพื่อไทยหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องตรงนี้ เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องไปคุยกัน


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/fcrcYkYOkT4

คุณอาจสนใจ

Related News