เลือกตั้งและการเมือง

ส.โฆษณา ชี้ดีอีเอสขู่ ‘ปิดเฟซบุ๊ก’ ไม่ช่วยลดโกงออนไลน์ ถึงปิดไปก็ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์ม

โดย nattachat_c

23 ส.ค. 2566

285 views

ตามที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เตรียมเรียบเรียงหลักฐานจากผู้กระทำความผิดบนแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อส่งศาลให้มีการ ปิดเฟซบุ๊กภายในสิ้นเดือนนี้ และขอให้ศาลสั่งปิดเฟซบุ๊กภายใน 7 วัน หลังประชาชนถูกหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก และได้รับความเสียหายทางด้านทรัพย์สินรวมกว่า 10,000 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายรติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เข้าใจบริบทของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่กรณีประชาชนถูกหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊กในลักษณะต่างๆ แล้วเฟซบุ๊กในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ดูแล จนเกิดเป็นประเด็นปัญหานี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ซึ่งการแก้ไขต้องทำร่วมกันในหน่วยงานรัฐ เช่น ตำรวจจะต้องเข้ามาตรวจสอบ หากประชาชนร้องเรียน หรือแจ้งความดำเนินคดี โดยที่มีวิธีการที่หลากหลายมากกว่าการปิดแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเพื่อตัดปัญหา


นายรติกล่าวว่า ถ้ามีการปิดให้บริการจริงๆ จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการบนเฟซบุ๊กในแง่ของการทำธุรกิจตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายย่อย เพราะบางแบรนด์ของธุรกิจมีการขายโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเพื่อสร้างรายได้ รวมถึงมีผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มธุรกิจบนแพลตฟอร์มนี้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะดำเนินการปิดแพลตฟอร์มต้องพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น และอาจกระทบถึงระบบเศรษฐกิจไทย


“การปิดเฟซบุ๊กฟังดูจะง่ายไปหน่อย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเกิดขึ้นต่อเนื่อง และต้องมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง แล้วแพลตฟอร์มไม่ได้มีเพียงแค่เฟซบุ๊ก หากปิดไปหนึ่งแพลตฟอร์มแล้ว แต่ในไทยมีสื่อออนไลน์ที่ให้บริการอื่นๆ อีก เรื่องจะไปเกิดที่แพลตฟอร์มนั้นๆ ตามกันมา แล้วกระทรวงจะไปไล่ปิดหมดก็ไม่น่าใช่การแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่ต้องมีเทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง” นายรติกล่าว


นายรติกล่าวว่า การแก้ปัญหาให้ถูกจุดในฐานะผู้ผลิตโฆษณาและผู้บริโภคด้วย การให้ความรู้ หรือการสอนให้ประชาชนรู้เท่าทันเรื่องเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยี รวมถึงการรู้เรื่องกลโกงของมิจฉาชีพที่บางหน่วยงานยังมีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนไม่มากพอ อีกทั้งการดำเนินการของภาครัฐในกระทรวงต่างๆ ทำร่วมกับตำรวจให้มากขึ้น เช่น การล่อซื้อ หรือวิธีการอื่นๆ เพื่อจับกุมมิจฉาชีพมาลงโทษ เพราะการไล่ปิดแพลตฟอร์มไม่ใช่ผลดีต่อการแก้ปัญหา


“เป็นห่วงเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนถูกมิจฉาชีพหลอกทรัพย์สิน หรือมีการหลอกขายสินค้าไม่ตรงปก ซึ่งการเปิดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ผู้ขายเองก็ควรมีจรรยาบรรณในการขาย ไม่หลอกลวงผู้บริโภค และต้องมีการดูแลประโยชน์ของผู้บริโภค” นายรติกล่าว

-------------

คุณอาจสนใจ

Related News