เลือกตั้งและการเมือง

'ส.ว.กิตติศักดิ์' ย้ำไม่โหวต 'พิธา' ล้าน% - 'ไอติม' ชี้ไม่ได้ขอให้ ส.ว.ชอบก้าวไกล แต่ต้องเคารพเสียง ปชช.

โดย nattachat_c

24 พ.ค. 2566

21 views

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ย้ำจุดยืนการโหวตนายกรัฐมนตรีว่า คำไหนคำนั้น โดยเหตุผลที่ไม่เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เพราะมีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน จึงไม่เห็นสมควรที่จะให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี


เมื่อถามว่า วานนี้ (23 พ.ค.) มีกลุ่มผู้ชุมนุมมากดดันให้ ส.ว.โหวตนายพิธาเป็นนายก กังวลหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทราบเบื้องต้นว่า กลุ่มที่มาชุมนุมมาด้วยความมิตรไมตรี เจตนาเพื่อมาแจ้งให้ ส.ว.รับทราบว่าต้องการอะไร ตนเห็นว่าเป็นสีสันของประชาธิปไตยในการที่เห็นต่างหรือผู้ที่มาประท้วง ซึ่งไม่ใช่ปัญหา โดยตนเห็นว่า ถ้าหากมีการพูดจากันดีๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าจะมาข่มขู่กดดันนั้นไม่มีผล


ส่วนที่พรรคก้าวไกลพยายามชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 หลายช่องทาง จะไม่เป็นผลในการตัดสินใจเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า เป็นการชี้เจตนาที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทูตอเมริกามายุ่งเกี่ยวก้าวก่าย หรือเร่งรัดการเลือกตั้งของไทย ซึ่งโดยกติกามารยาทระหว่างประเทศ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง


เมื่อถามว่า เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ได้ใส่ลงไปใน MOU ก็ยังรับไม่ได้ใช่หรือไม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า แล้วมีความจำเป็นอย่างไร ตนฟังในการแถลง MOU เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา นายพิธายืนยันแม้ไม่ได้อยู่ใน MOU แต่จะยื่นเสนอเข้ามาในสภา ซึ่งตนเห็นว่า เป็นปัญหาของนายพิธาและพรรคก้าวไกล เพราะไปหาเสียง ดังนั้นไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ ‘เดี๋ยวไม่แก้ เดี๋ยวไม่มีกู’ เพราะฉะนั้นสร้างปัญหาเอง ก็ต้องไปแก้ปัญหาเอง เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องกลั่นกรอง ฉะนั้นเราต้องพิจารณาคนที่มานำพวกเรา ส่วนตัวยืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ กิตติศักดิ์ ไม่โหวตให้นายพิธา


เมื่อถามว่า ม.112 ไม่ได้ระบุใน MOU และอาจไม่ผ่านในสภาก็ได้ จะไม่นำมาพิจารณาในการตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีหลักว่า การเมืองให้อยู่ในการเมือง


“คุณจะด่าใคร ด่าลุงด่าป้าด่าน้าด่าอา ผมไม่ว่า แต่ถ้าเลยขอบเขตไปแตะเบื้องสูง กิตติศักดิ์ไม่ยอมครับ” นายกิตติศักดิ์ กล่าว


เมื่อถามว่า มี ส.ว.หลายคนหรือไม่ ที่คิดแบบนี้

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ ส.ว.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ สนับสนุนพิธา ตามระบบกลไกของประชาธิปไตย อีกกลุ่มคือ งดออกเสียง ซึ่งทั้งสองกลุ่มวัดได้ว่า งดออกเสียงมากกว่า


เมื่อถามว่า กลุ่มที่งดออกเสียงเกิน 150 เสียงหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า ไม่บอกตัวเลขดีกว่า


เมื่อถามว่า กลุ่มที่ไม่โหวตให้กับนายพิธามีจำนวนเท่าไหร่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มี เมื่อก่อนนี้ จะมีเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง แต่ปัจจุบันเหลือแค่ สนับสนุนนายพิธา และงดออกเสียง


เมื่อถามว่า แสดงว่า นายกิตติศักดิ์จะอยู่ในกลุ่มงดออกเสียงใช่หรือไม่

นายกิตติศักดิ์ ปฏิเสธว่า ไม่ เพราะยืนยันแล้วว่า ไม่สนับสนุน ฉะนั้นก็คือไม่เห็นชอบเพียงคนเดียว ส่วนจะมีคนอื่นตามหรือไม่ ไม่ทราบ


เมื่อถามว่า ไม่กลัวสังคมกดดันใช่หรือไม่

นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า สักวันหนึ่งกิตติศักดิ์จากโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานอาจจะนึกถึงก็ได้ ว่านายกิตติศักดิ์ตัดสินใจถูก


เมื่อถามว่า แล้วกลุ่มชาวนาเห็นด้วยกับนายกิตติศักดิ์หรือไม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่บังอาจไปคิด แต่คนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไม่เอาด้วยอย่างแน่นอน จะเห็นว่า การสนับสนุนให้กำลังใจตน มาจากทั่วประเทศ แต่ตนบอกว่า เราคนไทยด้วยกันไม่ควรทะเลาะฆ่ากันเอง เพราะฉะนั้นตนไม่สนับสนุนให้มีม็อบ


เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลได้ส่งคณะเจรจามาพูดคุยกับนายกิตติศักดิ์หรือไม่

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีใครมาพูดคุยเจรจากับตนเอง อาจจะเป็นเพราะตนเป็น ส.ว.ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แต่จะคุยกับ ส.ว.ผู้ใหญ่หรือไม่ก็ไม่ทราบ และในวันนี้ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันนอกกรอบในกลุ่มของ ส.ว.แต่อย่างใด
--------------
เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 66) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. กล่าวถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ว่า ยังมีเวลาอีก 2 เดือน จึงยังไม่การหารือของ ส.ว. อย่างเป็นทางการ


แต่ยอมรับว่า มีการหารือเป็นกลุ่มย่อยอยู่บ้าง และจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนสมาชิกนั้นทราบว่ามี 3 แนวทาง คือ ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือก , กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ขอรอเวลาก่อน , และกลุ่มที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย 2 กลุ่มหลังนั้นถือเป็นกลุ่มส่วนมากที่จะรอดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ เพราะถ้าตัดสินใจวันนี้ ยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหรือไม่


และส่วนตัวอยู่ในกลุ่มที่จะโหวตให้พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมาก ซึ่งหากพรรคดังกล่าวเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะโหวตให้คนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนมาตั้งแต่ต้น และจะไม่มีเปลี่ยนแปลง


นายวันชัย ยังเชื่อว่า จากการปรึกษาหารือกันมาตลอดนั้น ส.ว. จะมีแนวทางตัดสินใจในการโหวตเพื่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง


ส่วนพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องมาคุยกับ ส.ว. หรือไม่นั้น มองว่า เป็นเรื่องส่วนตัว และอาจจะเป็นวิธีการหนึ่งในการสื่อสารระหว่างกัน เชื่อพรรคร่วมจะมีวิธีการแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน บอกว่า เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสื่อสาร และส่วนตัว ยังไม่ได้รับการประสานมาแต่อย่างใด


และเท่าที่ทราบนั้นมี มีบางกลุ่ม บางคนที่รู้จักกันก็มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ และการประชุมของ ส.ว. ในวันนี้ จะไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้นอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่ เชื่อทุกครั้งที่นัดพูดคุยกัน เรื่องการเมืองก็จะมีการนำมาพูดคุยกันอยู่บ้าง ก่อนย้ำว่ามีเวลาอีก 2 เดือน ในการตัดสินใจ


ขณะเดียวกัน ส.ว. ไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นหน้าที่ของ ส.ส. จึงไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ แม้จะมาทำงานร่วมกันในอนาคต เช่นเดียวกับกรณีการถือครองหุ้นสื่อ ที่มองว่า เป็นเรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบจะตัดสินใจมากกว่า


นายวันชัย ยังกล่าวว่า การเคลื่อนไหว หรือการชุมนุมต่างๆ นั้น ส.ว. จะรับฟัง และไม่มีใครปฏิเสธเสียงของประชาชน เชื่อจะนำทุกประเด็นมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ได้มองใครเป็นศัตรู แต่จะมองด้วยเหตุด้วยผล


พร้อมกันนี้ ไม่ได้มองว่าการชุมนุมเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (23 พ.ค. 66) เป็นการกดดัน ส.ว. แต่มองเป็นการแสดงออกตามกฎหมาย โดยเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้การพูดคุยเจรจาด้วยไมตรีจะเป็นประโยชน์ต่อกันมากกว่า ซึ่ง ส.ว. ทุกคนมีวุฒิภาวะ ไม่ดื้อรั้น แต่จะให้ทั้ง 250 คน โหวตไปทิศทางเดียวกันน่าจะเป็นไปไม่ได้


พร้อมยืนยัน ว่า ไม่มีใครมาสั่งการ มาบอกให้เอาหรือไม่เอา และยิ่งสถานการณ์เช่นนี้ความเป็นอิสระในการตัดสินเป็นเรื่องที่สวยงาม และเหมาะสม


นายวันชัย เปิดเผยด้วยว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้ ส.ว. ทุกคนมีเอกสิทธิ์ตัดสินใจ ไม่มีใครสั่งได้

-------------
วานนี้ (23 พ.ค.) เวลา 14.30 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลว่าพรรคก้าวไกลได้ให้ความชัดเจน 2 เรื่อง คือ


1. การลงนาม MOU ร่วมกัน 8 พรรคการเมือง 313 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร  


2. การลงนามร่วมกันว่าประเด็นวาระขั้นต่ำที่นำเสนอผ่าน MOU มีอะไรบ้าง พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับจำนวนสิ่งสนับสนุนที่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล หากต้องการให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้น  “เรียกร้องให้ ส.ว. ออกมายืนยันพร้อมจะเคารพเสียงข้างมากของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง และสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามหลักประชาธิปไตยสากล”


นายพริษฐ์ เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ทำให้ทุกคนมั่นใจมากขึ้น เกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและแสดงความพร้อมที่จะพูดคุย ชี้แจงคลายข้อกังวลที่ ส.ว.บางคนอาจจะมี โดยย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้ ส.ว.ต้องชื่นชอบพรรคก้าวไกล เป็นการเฉพาะแต่ขอเพียงเคารพเสียงของประชาชน


พร้อมกันนี้ ยังอ้างถึงเหตุผลที่ ส.ว.เคยโหวต พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 เพราะพลเอกประยุทธ์ รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา จึงขอให้ยึดหลักการเดิมที่ ส.ว.เคยให้ไว้ โดยเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลผสมที่มี 8 พรรคการเมืองโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ

--------------

จากกรณีที่สังคมจากเรียกร้องให้ 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีที่มาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ลงมติเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล พรรคชนะอันดับที่ 1 ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามฉันทามติของประชาชนนั้น


วานนี้ (23 พ.ค. 66) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า “อีก 1 สว.ที่จะโหวตสนับสนุนให้ #พิธา เป็นนายกฯ ตามเสียงของประชาชน ขอบคุณ ส.ว.ทัศนา ยุวานนท์ วุฒิสมาชิกวัย 84 ปี จากโคราช”
--------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/LQjKtrT6QZU

คุณอาจสนใจ

Related News