เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ ประกาศ 'ยุบสภา' มี.ค. เลือกตั้ง 7 พ.ค. 'อนุชา' เปิดไทม์ไลน์รัฐบาลรักษาการ

โดย petchpawee_k

22 ก.พ. 2566

14 views

นายกฯเผยไทม์ไลน์ยุบสภาเดือน มี.ค.ให้เป็นไปตามกรอบเวลาเลือกตั้งของ กกต.  เชื่อความดีจะคุ้มครองปัดป้องมนต์ดำ บอกไหว้อธิฐาน ไม่เคยขอให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

ด้าน ‘วิษณุ’ เผย นายกฯ เปรย ยุบสภาฯ พร้อมหารือพรรคร่วมฯก่อน และฟังสัญญาณ กกต.แต่ยังไม่กำหนดวัน ด้านโฆษกแจงยิบ ไทม์ไลน์เลือกตั้ง ขั้นตอนอำนาจรักษาการ ครม.

วานนี้ (21 ก.พ.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดเผยหลังประชุม ครม.ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. ถึงข้อกฎหมายในการเป็นรัฐบาลรักษาการ มีอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ และตนเองก็ได้แจ้งในที่ประชุม ถึงกำหนดการยุบสภา ว่าอยู่ในเดือนมีนาคม เพื่อเป็นไปตามกรอบกำหนดเวลาการเลือกตั้งที่ กกต.วางไว้ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้หลายๆ ส่วนดำเนินการต่อไป ด้วยความเรียบร้อย


ผู้สื่อข่าวถามว่าวันยุบสภาจะเป็นช่วงต้นเดือนมีนาคม หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า "ก็ประมาณนั้น ก็บอกว่ามีนา ก็มีนาซิ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเดือนพฤษภาคม ให้สอดคล้องกัน และเพื่อให้ ส.ส.มีเวลาหายอกหายใจ นายกฯไม่ได้ต้องการไปถ่วงอะไรใคร"

พร้อมกันนี้ได้ขอร้องให้รัฐมนตรีร่วมการพิจารณากฎหมายที่สำคัญที่ยังคั่งค้างให้ลุล่วง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชน เช่น กฎหมายประมง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน เป็นต้น เนื่องจากช่วงนี้มีเวลาจำกัด สิ่งไหนที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้รัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนให้มากที่สุด ยืนยัน ไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว และ หลังจากยุบสภาแล้วรัฐบาลก็ยังคงรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่


พลเอกประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ กกต.ออกระเบียบใหม่ ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะทำให้กระบวนการสอบสวนการยุบพรรคเร็วขึ้น ว่า เป็นเรื่องของ กกต. ที่หวังจะให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม อย่ามองกกต.ว่าจะจ้องยุบพรรค ต่างคนต่างมีหน้าที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง และตนก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ต่างคนต่างทำหน้าที่ ขณะที่แต่ละพรรคการเมืองก็อย่าทำผิด


ส่วนกรณีที่ นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเตือนว่าการทำพิธีที่วัดยางใหญ่ ระหว่างที่นายกฯลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา หากไม่ถูกต้อง อาจวิบัติ หรือ มนต์ดำเข้าตัว พลเอกประยุทธ์ ระบุว่า สิ่งที่ตนทำมาตลอดคือทำความดีเพื่อประเทศชาติ จึงคิดว่า ความดีที่ตนทำมาจะคุ้มครองตนได้บ้าง ขณะเดียวกันตนก็ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือทุกที่เพราะเป็นคนไทย ความเชื่อมั่นความศรัทธาไม่มีอะไรเสียหายถ้าทำความดี และไปไหว้อะไรก็แล้วแต่สิ่งแรกที่ตนขอคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปลอดภัยปลอดภัย จากนั้นคือการขอพรให้ประชาชนทั้งประเทศมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ประเทศไทยเข้มแข็ง และท้ายสุดคือขอให้ตนเองสุขภาพแข็งแรงมีกำลังกายกำลังใจในการทำงาน ตราบใดยังมีภาระอยู่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าได้ขอให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่เคยขอแบบนั้น

----------------------------------

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. กรณีรายงานขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของครม. หากมีการยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ ว่า เดี๋ยวจะให้ทีมโฆษกรัฐบาลแถลงอย่างเป็นทางการ หากมีข้อสงสัยค่อยมาถามตนในภายหลังได้


เมื่อถามว่า ในที่ประชุมครม.ได้พูดถึงการยุบสภาในช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่สามารถกล่าวถึงเรื่องเหล่านั้นได้ ซึ่งตนพูดแต่เรื่องของตัวเอง หากยุบสภาแล้ว สภาจะเป็นอย่างไร ผลกระทบต่อกฎหมายที่ทูลเกล้าฯไปแล้วเป็นอย่างไร ผลกระทบต่อครม.เป็นอย่างไร ผลกระทบต่อข้าราชการการเมืองอื่นๆ เป็นอย่างไร และผลกระทบต่อรัฐมนตรีแต่ละคนเป็นอย่างไร


ส่วนวันยุบสภาฯ เป็นเรื่องของนายกฯ กำหนด แต่นายกฯ ได้เปรยในทำนองว่า มีอะไรจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกทีในกรณีหากจะมีการยุบสภา เพราะต้องฟังสัญญาณจากกกต. ด้วย เนื่องจาก กกต. ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการทักท้วงกันอยู่หลายประเด็น และเรื่องจำนวนราษฎร ซึ่งกกต. ก็ขอมีส่วนร่วมด้วย แต่เป็นการแนะนำเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็คงจะถ้อยทีถ้อยอาศัยฟังกันอีกที เมื่อถามว่า แนวโน้มศาลฯ จะวินิจฉัยนานหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คิดว่าไม่นาน แต่น่าจะเกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์


นายวิษณุกล่าวว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะประชุมครม. อีกหลายหน ซึ่งได้แจงให้ครม.ทราบว่า แม้ยุบสภาไปแล้ว ครม.ก็ยังประชุมกันได้ปกติ และในระหว่างนั้นจะปรับครม.ก็ยังได้ รัฐมนตรีจะลาออกก็ได้ ไม่มีปัญหา


ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ การชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ถึง Timeline หรือตารางเวลาโดยคร่าวของการเลือกตั้ง ถึงระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับรัฐบาลรักษาการ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยในเบื้องต้น สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน จะคบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญ


หากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ จะต้องมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาหรือครบวาระ จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องของวันเลือกตั้ง แต่อยู่ในกรอบระยะเวลาของแต่ละกรณี โดยคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 และจะประกาศรับรองในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม


ส่วนขั้นตอนต่อไปจะมีการเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งประธานสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม และหลังจากนั้น จะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และจะเป็นขั้นตอนการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ต่อมาก็คือในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเช่นกัน


 โดยเมื่อมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว จะมี การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยการที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะใช้เวลาในช่วงต้นเดือนสิงหาคม


ทั้งนี้ นายอนุชากล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ รัฐบาลชุดปัจจุบัน จะต้องรักษาการอีกประมาณ 4 เดือนครึ่งโดยคร่าว ถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ส่วนวุฒิสภายังคงมีอยู่ แต่ไม่สามารถประชุมได้ เว้นแต่จะเป็นการพิจารณาในการตั้งองค์กรอิสระ พี่จะสามารถดำเนินการได้


ขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติต่างๆที่ค้างอยู่ในสภา ทั้ง 2 สภาฯ ประมาณ 29 ฉบับ จะถูกตกไปในทันที และหากหลังเลือกตั้งรัฐบาลจะนำมาพิจารณาต่อก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและพระราชบัญญัติที่มีการกราบบังคมทูลไปแล้วอยู่ที่ 11 ฉบับ ซึ่งต้องดำเนินการต่อไปตามปกติ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลสามารถออกพรก. ได้ ส่วนการออกพรบที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงต่างๆก็ยังสามารถที่จะดำเนินการออกได้ตามปกติเช่นเดิม


ส่งผลที่เกี่ยวข้องกับ ครม. เมื่อครม.พ้นตำแหน่งแต่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป คือ ครม.รักษาการจนกว่าครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ จะมีการรักษาการ จำนวนเอกสารราชการ หรือการรายงานข่าว ไม่จำเป็นต้องรักษาการสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ส่วนข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่ง ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และพ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับวันที่คณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง


 ส่วนหากคณะรัฐมนตรีรักษาการมีรัฐมนตรีลาออกยืนยันว่าไม่กระทบต่อคณะรัฐมนตรี ครม.ยังสามารถประชุมได้ นายกรัฐมนตรีเองมียังคงมีอำนาจในการปรับครม. ได้ หากมีความจำเป็น


ทั้งนี้ รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ฉายสไลด์ให้ที่ประชุมครม.โดยเปรียบเทียบเมื่อปี 2562 รัฐบาล คสช.รักษาการนาน 4 เดือน ขณะที่ปี 2566 รัฐบาลรักษาการ 1.5-3 เดือน ดังนี้

ยุบสภาหรือครบวาระ - เดือนมีนาคม

วันเลือกตั้ง - ต้นเดือนพฤษภาคม

ประกาศผล -  ต้นเดือนกรกฎาคม

เสด็จเปิดสภา - กลางเดือนกรกฎาคม

ตั้งประธานสภา - กลางเดือนกรกฎาคม

เลือกนายกรัฐมนตรี - ปลายเดือนกรกฎาคม

โปรดเกล้าฯตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ - ปลายเดือนกรกฎาคม

ตั้งครม.ชุดใหม่ - ต้นเดือนสิงหาคม

ครม.ชุดใหม่ ถวายสัตย์ฯ - ต้นเดือนสิงหาคม


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/RKiqefi6Q5E

คุณอาจสนใจ