เลือกตั้งและการเมือง

เช็กอาการ ‘ตะวัน-แบม’ ยืนยันอดอาหารต่อ - ‘คาร์ม็อบ’ ชุมนุมหน้าศาลอาญา เรียกร้องปล่อยตัว

โดย petchpawee_k

26 ม.ค. 2566

56 views

ศูนย์ทนายฯ ระบุ ‘ตะวัน’ เสี่ยงมีอาการหัวใจจะหยุดเต้น จากการขาดโพแทสเซียม จึงตัดสินใจรับโพแทสเซียมจากพยาบาลของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แต่ทั้งตะวันและแบม ยังยืนยันว่า จะทำตามความตั้งใจเดิมคือ อดน้ำ อดอาหาร ไม่ใส่สายน้ำเกลือ ไม่กินเกลือแร่ ไม่กินวิตามิน ไม่กินน้ำหวานและอื่นๆ และมั่นใจในการดูแลของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ


วานนี้ (25 ม.ค.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผย คำชี้แจงกรณี ตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ (แบม) ผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ประกาศงดน้ำและอาหาร ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 ม.ค. ความว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยมตะวันและแบม พร้อมทั้งได้เข้าพูดคุยปรึกษาอาการกับแพทย์ที่เป็นผู้ดูแลทั้งคู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์


ทนายความของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ ขอชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดอาการและรายละเอียดการเข้าพบตะวันและแบม ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ต่อสาธารณชนดังต่อไปนี้


ทนายความได้เข้าพบตะวันและแบมในเวลา 14.52 น. ในห้องของโรงพยาบาลซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าอยู่ในห้องด้วยตลอดเวลาจำนวน 4 คน พบทั้งคู่นอนอยู่บนเตียงเดี่ยว ตะวันมีลักษณะผอมลงเป็นอย่างมากและเห็นรูปโครงหัวกะโหลกจากศีรษะค่อนข้างชัด ทั้งคู่ใส่เสื้อหนาวสีสันสดใสเป็นลายคู่กันนอนข้างกันอยู่บนเตียง


จากการสอบถามปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ขณะมาถึงและได้รับการตรวจ ตะวัน มีอาการหัวใจจะหยุดเต้นจากการขาดโพแทสเซียม จึงตัดสินใจรับโพแทสเซียมจากพยาบาลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ทั้งคู่ยังคงยืนยันว่าจะทำตามความตั้งใจเดิมและมั่นใจในการดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ คืออดน้ำ อดอาหาร ไม่ใส่สายน้ำเกลือ ไม่กินเกลือแร่ ไม่กินวิตามิน ไม่กินน้ำหวานและอื่นๆ


ในวันนี้ (25 ม.ค.) สภาพจิตใจของทั้งคู่ดีขึ้นมาก แบมแสดงอาการตื้นตันใจเมื่อได้รับทราบว่าพ่อแม่ของแบมไปยืนหยุดขัง


จากการปรึกษาอาการกับแพทย์ โดยภาพรวม ทั้งคู่มีการรู้สติในเกณฑ์ปกติ มีอาการอ่อนเพลีย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้ทำการเจาะเลือดตรวจและทำการเอกซเรย์ โดยในเกณฑ์นี้ยังไม่มีอะไรเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งสำหรับการอดอาหารแบบไม่รับยา ไม่ทานยานั้น จะมีอาการปวด ทุกข์ทรมานโดยไม่มีอาการบรรเทา ซึ่งเมื่อคนไข้ปฏิเสธรับยาและการรักษา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็จะเคารพการตัดสินใจของคนไข้ และทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จะใช้วิธีการดูแลคนไข้ด้วยการตามมาตรฐาน เช่นในกรณีที่คนไข้ไม่รับการรักษา โรงพยาบาลจะดูแลด้วยการตรวจจับสัญญาณชีพตามมาตรฐาน คือทุก 4 – 6 ชั่วโมง


โดยสิ่งที่เริ่มเห็นจากร่างกายของคนไข้ คือการขาดเกลือแร่ และเกลือแร่บางตัวเช่นโพแทสเซียม หากต่ำไปจะทำให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งในขณะนี้คนไข้มีอาการดังกล่าวแล้ว


ทั้งนี้ หากอาการยังคงเป็นไปเช่นนี้ โดยคนไข้ยังปฏิเสธการรับเกลือแร่ อาการก็จะไม่ดีขึ้น แต่สาเหตุของการไม่ดีขึ้นหรือมีอันตรายถึงชีวิตต่อร่างกายจะเกิดขึ้นได้โดยหลายปัจจัย


โดยแพทย์ และ ตะวันกับแบมได้ยืนยันกับทนายตรงกันว่า ทั้งคู่รับทราบถึงอาการของร่างกายของตนเองเป็นอย่างดี มีความเข้าใจว่าจะสามารถเกิดอะไรขึ้นได้กับร่างกายของตน


โดยตะวัน บอกว่า หากเมื่อร่างกายเข้าขั้นวิกฤตแล้วจริงๆ รับทราบดีว่าสามารถมีอาการหัวใจวายได้ “ถึงตอนนั้นก็คือหนูก็จะไม่รู้อะไรแล้ว”

------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) กลุ่มทะลุวัง / โมกหลวงริมน้ำ / คนรุ่นใหม่นนททุบรี / 24 มิถุนาประชาธิปไตย ประกาศนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลาประมาณ 12.00 น. เพื่อจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยจะเดินทางมายังศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว แบม อรวรรณ ภู่พงศ์ / และตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อดอาหารและน้ำในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา จนกระทั่งวันที่ 20 มกราคม ทั้ง 2 คน มีอาการทรุดหนักต้องหามส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ปฏิเสธการรักษาพยาบาล จนปัจจุบันอาการอยู่ในขั้นวิกฤติ


 โดยเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ขบวนคาร์ม็อบ ซึ่งนำโดยรถเครื่องเสียงของแกนนำ และมีมวลชนจำนวนหนึ่ง นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมติดสติกเกอร์ข้อความแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เดินทางมาถึงบริเวณถนนรัชดาภิเษก หน้าศาลอาญา จากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุม ได้ร่วมกันทำกิจกรรมโปรยกระดาษระบุข้อความ 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม ได้แก่ 1.ปล่อยนักโทษการเมือง / 2.ปฏิรูปยุติธรรม-ศาลเป็นอิสระ / 3.ประกันเสรีภาพ-ยกเลิก ม.112


จากนั้น แกนนำได้สลับกันขึ้นปราศรัยบนรถเครื่องเสียง เช่น บอย ธัชพงศ์ แกดำ / บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม / แก้วตา ธิษะณา ชุณหะวัน เป็นต้น โดยมีใจความสำคัญของการปราศรัย คือ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ตะวันและแบม รวมถึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของทั้ง 2 คน และให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน


 ต่อมา เวลา 16.00 น. บอย ธัชพงศ์ ประกาศว่า ในเวลาประมาณ 16.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจะร่วมกันอ่านแถลงการณ์และทำกิจกรรมยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โดยมีตัวแทนศาลเป็นผู้รับหนังสือ ซึ่งใจความของหนังสือข้อเรียกร้อง เป็นการร้องเรียนข้อเท็จจริงจำนวน 4 ข้อ ได้แก่


1.รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด ดังนั้น การคุมขังระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดจึงเป็นการขัดต่อหลักกฏหมาย


 2.การที่ ตะวัน และผู้ต้องหาคนอื่นๆ ถูกศาลถอนการประกันตัวด้วยเหตุผลที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการประชุมเอเปคนั้น เป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า การคุมขังผู้ต้องหาทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีเท่านั้น


3.การที่ประชาชนออกมารวมตัวกันแสดงความคิดเห็นและชุมนุมประท้วง เกิดขึ้นจากความเดือดร้อนจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับใช้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 กับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐ


 4.ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลคือ 2 ข้อแรก เป็นสิ่งที่ศาลสามารถดำเนินการได้ทันทีอยู่แล้ว ขอเพียงแต่ให้ผู้บริหารศาลประกาศข้อกำหนดให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนการไต่สวน ตัดสินใจในการอำนวยความยุติธรรมโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจใดๆ


ขณะที่การรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมของศาลอาญานั้น ได้มีการปิดประตู 7 และประตู 8 โดยเจ้าหน้าที่ของศาลได้นำป้ายแจ้งประชาสัมพันธ์มาติดตั้งบริเวณทางเข้าประตู 6 ศาลแพ่ง แจ้งให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการที่ศาลอาญา ให้ใช้ทางเข้า-ออก ที่ประตู 6 แทน ส่วนด้านใน ภายในรั้วของศาล มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ไว้จำนวนหนึ่ง และตั้งจุดคัดกรองสำหรับประชาชนที่มาติดต่อราชการให้นำเอกสารหมายนัดของศาลมาแสดงก่อนเข้าไปในพื้นที่


นอกจากนี้ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน และตำรวจศาล กระจายกำลังดูแลความเรียบร้อยอยู่โดยรอบบริเวณ พร้อมนำแผงเหล็กมาปิดกั้นพื้นที่ไว้ รวมถึงเตรียมรถฉีดน้ำและรถจีโน่มาจอดไว้ในพื้นที่ศาลด้วย



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/zPZfpYjWe_s

คุณอาจสนใจ

Related News