เลือกตั้งและการเมือง

“สุพัฒนพงษ์” ชี้แจง พ.ร.ก.เงินกู้กองทุนน้ำมันฯ 1.5 แสนล้านบาท ย้ำอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

โดย paranee_s

17 ส.ค. 2565

64 views

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้มีร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ว่า เรื่องนี้เป็นวาระลับ โดยรายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเชื้อเพลิง ซึ่งมาจากปัจจัยและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนลงจึงเป็นภาระ โดยในอดีตที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงาน


ในอดีตกองทุนน้ำมัน เคยมีเงินทุนติดลบอยู่หลาย 10,000 ล้านบาท ก็สามารถออกเงินกู้ตราสารหนี้ต่างๆ ได้เพราะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในกระทรวงพลังงาน และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งไม่มีประเด็นนี้อยู่ในพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงพยายามที่จะดูว่าจะใช้วิธีการเดิมในการกู้ เมื่อไม่มีเรื่องนี้อยู่ก็เป็นอุปสรรค จึงได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังมาเป็นเวลานาน และได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการการเงินโดยมีกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อหาวิธีการต่าง ๆ จึงเป็นทางเลือกและนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ


โดยเมื่อวานนี้ (17 ส.ค. 2565) ได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทาง ส่วนที่เหลือกฤษฎีกาจะไปพิจารณาดู ทั้งนี้เมื่อออกเป็นพระราชกำหนดก็จะมีผลทันที แต่เมื่ออยู่ในสมัยประชุมสภา ก็ต้องนำเสนอทั้งสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่ทั้งนี้จะต้องกู้ก่อน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อที่จะต้องเตรียมพร้อมรับช่วงฤดูหนาว ซึ่งไม่ทราบว่าสถานการณ์ฤดูหนาวในต่างประเทศ จะมีผลพวงต่อราคาพลังงาน


ดังนั้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการต่อไป หน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน ก็จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาก็ได้หาทุกวิถีทางแล้ว ในการที่จะเสริมสภาพคล่องและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกองทุนน้ำมัน


ส่วนรายละเอียดว่าจะกู้ 1.5 แสนล้านบาทหรือไม่ ต้องดูอีกทีแต่ไม่ใช่เป็นการกู้แบบทีเดียว จะเป็นการทยอยตามความจำเป็นมีทั้งของเก่า และเตรียมพร้อมของใหม่ พยายามจะทำให้ดีโดยยึดวินัยการเงิน การคลัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ


ส่วนจะกู้จนเต็มเพดานหรือไม่ ต้องรอดูก่อนเพราะเรื่องนี้เป็นวาระลับ ไม่สามารถที่จะบอกจำนวนการกู้เงินได้ โดยตัวเลขเงินกู้ อยู่ที่กระทรวงการคลังพิจารณาและจะอยู่ในวงเงินที่เหมาะสม เมื่อกู้แล้วก็เชื่อว่าหนี้สาธารณะ จะไม่เพิ่มมากขึ้น


ทั้งนี้จะออกเงินกู้ได้ภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปพูดคุยกัน โดยวงเงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้กองทุนน้ำมันฯ และไม่ใช่นำมาพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ลิตรละ 35 บาท แต่เป็นการนำมาชำระหนี้เดิมที่ยังช็อตอยู่กว่าแสนล้านบาท


นายสุพัฒนพงษ์ ยังชี้แจงถึงเหตุที่ไม่ใช้แนวทางการเก็บภาษีลาภลอย ว่า เรื่องนี้เคยมีคิดไว้อยู่แล้วในอดีต แต่ต้องใช้เวลานาน พร้อมระบุว่า ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นแล้ว แต่ขณะนี้ค่าการกลั่นลงมาอยู่ที่ 2 บาทกว่า แต่หากค่าการกลั่นยังอยู่ที่ 5-6 บาทในระยะเวลานาน ก็จำเป็นต้องหารือกับผู้ประกอบการอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้ยังไม่พับแผน มีโอกาสก็จะคุย และแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะอ่อนตัวลง แต่ก็ไม่ประมาณ เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวความต้องการน้ำมันอาจจะเพิ่มสูงขึ้น และยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด รวมถึงการซ้อมรบของจีน


ไทยจึงต้องมีความยืดหยุ่นและเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง เพื่อดูแลประชาชนและรักษาเสถียรภาพในเรื่องที่สำคัญได้ แต่ย้ำว่าอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยกระทรวงการคลังไม่มีความอึดอัดใดๆ จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้ เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังดูแลได้ สิ่งสำคัญในยามวิกฤตต้องประคับประคองผ่านพ้นไปให้ได้


ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่า Ft นายสุพัฒนพงษ์ ยืนยันรัฐบาลจะมีการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ไปดูถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย หากจะให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ต้องใช้วงเงินอีกเท่าไร หรือคนที่ใช้ไฟในช่วง 300-500 หน่วยจะดูแลอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานจะมีมาตรการนี้ เนื่องจากราคา Ft ใหม่จะมีผลในเดือนกันยายน


ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งบฯกลางในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อน และจะใช้มาตรการนี้ ถึงสิ้นปี 2565 เพราะเป็นไปตามรอบของค่าไฟฟ้า เป็นการประคับประคองในสถานการณ์ที่ยาก และหนักใจ แต่ขอให้ความมั่นใจว่า เรื่องเสถียรภาพวินัยการเงินการคลัง นายกรัฐมนตรี กำชับและให้ความสำคัญเป็นพิเศษทำอะไรให้อยู่ในกรอบ


ดังนั้น อาจทำให้ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน และรัฐบาลก็รับไปดูแลส่วนหนึ่งแล้ว เช่น ค่าเอฟที กฟผ. ก็ได้ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนที่เพิ่มเติมมาจากค่าก๊าซที่สูงขึ้น เพื่อไม่ได้ผลักเป็นภาระในค่าเอฟที เป็นต้น

คุณอาจสนใจ

Related News