เลือกตั้งและการเมือง

เพื่อไทยเสวนา 8 ปีประยุทธ์ ต้องพ้นตำแหน่ง 24 ส.ค.นี้

โดย taweelap_b

16 ส.ค. 2565

42 views

วงเสวนา “8 ปี ประยุทธ์ อยากไปต่อ หรือต้องพอเพียงแค่นี้” ที่จัดโดยพรรคเพื่อไทย โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และนายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน


นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังจะเข้าสู่การการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 นับรวมเป็นนายกฯ จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 แปลว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557-2562 พอมาถึงวันที่ 24 ส.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งเรื่องร้องเรียนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ความเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ระบุไว้ชัดว่าคณะรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ให้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากนี้ คนที่เป็นนายกฯ มาก่อนต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยกเว้นไว้หลายเรื่อง แต่ไม่ยกเว้นเรื่อง 8 ปี ดังนั้น เรื่องนี้ติดตัวพล.อ.ประยุทธ์มา


เมื่อไปดูรายงานการประชุมของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ต้องการยกร่างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ซึ่งนายมีชัย ฤชพันธุ์ ตั้งประเด็น นายสุพจน์ ไข่มุกด์พูดเสริมว่าใครที่เป็นนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ สามารถนับรวมระยะเวลากับการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยห้ามเป็นเกิน 8 ปี สรุปแล้วทั้งลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 264 และเจตนารมณ์ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากความเป็นนายกฯ แน่นอน ไปไม่ได้ ทางตันส่วนที่เนติบริกรระบุว่าการประชุมดังกล่าวรับฟังได้นิดหน่อยนั้น ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ส่วนครม.ที่เหลืออยู่ก็รักษาการ ส่วนนายกฯ คนใหม่ก็เข้าสู่กระบวนการ


นายจาตุรนต์ กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 65 ข้อ 1 แง่ข้อกฎหมาย เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญซึ่งบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ว่าครม.ที่มีมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้แต่ไม่ได้มีการข้อยกเว้นในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปีไว้ ดังนั้น ถือว่าครม.สมัย คสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่เป็นครม.ตั้งแต่วันแรก คือ วันที่ 24 ส.ค.57 แล้วเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ อีกครั้ง แม้จะไม่ได้มีรัฐมนตรีชุดเดิมทั้งคณะ ก็เข้าข่ายว่าครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.65


ข้อ 2 เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ และการสืบทอดอำนาจที่ยาวนานจนนำไปสู่การทุจริต ในสมัยที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ยุคคสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทรกแซงองค์กรอิสระ และส.ว.ก็ถูกสรรหาโดยพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ต้องนับตั้งแต่เริ่มการผูดขาดอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ประวัติศาสตร์การเมืองไม่มีนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งคนใดอยู่เกิน 8 ปีด้วย และในอดีตก็มีถึง 3 ครั้งที่มีนายกฯ เผด็จการอยู่เกิน 8 ปี


ข้อ 3 ที่สำคัญการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก และเป็นจุดอ่อน คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ใช้ความมั่งคงทางทหารมาบริหารประเทศ


เมื่อรวม 3 มิติเข้าด้วยกัน ทั้งข้อกฎหมาย ป้องกันการผูกขาดและการทุจริต และการป้องกันความเสียหายของประเทศในการล้มเหลวแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก พอใจไม่พอใจ ชอบหรือไม่ชอบพล.อ.ประยุทธ์ แต่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากนายกฯในวันที่ 24 ส.ค. 65


นายสุทิน เปิดเผยว่า หลายคนบอกเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ ก็บอกว่าเป็นเรื่องของศาล พล.อประยุทธ์จึงต้องคิดและตัดสินใจเองก่อน แต่ดูท่าทีของพล.อประยุทธ์จะไม่จบและปัดเป็นหน้าที่ของศาล เพื่อไทยจึงต้องออกมาชี้ให้เห็นว่าข้อกฎหมาย พล.อประยุทธ์นับเลขเป็นหรือไม่ รัฐธรรมนูญมาตรา 158 พูดชัดว่าไม่เกิน 8 ปี และไม่จำเป็นต้องนับต่อเนื่อง


นอกจากนี้ นายสุทิน ยังกล่าวด้วยว่า หลักประชาธิปไตยต้องรับฟังประชาชนและสำคัญกว่านั้นคือต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศ หากรู้ว่าอยู่ไปประเทศจะวิกฤตและขัดแย้ง ต้องเสียสละ ถ้าอยู่ต่อจะทำงานได้จริงหรือไม่ หากทำไม่ได้ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ที่เสียหาย แต่เป็นประเทศชาติเสียหาย เศรษฐกิจพัง ใครจะรับผิดชอบ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่นายกฯ ตามวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่เป็นนายกฯ เผด็จการที่อาศัยตัวหนังสือเท่านั้นเอง

คุณอาจสนใจ

Related News