เลือกตั้งและการเมือง

‘ศิธา’ โพสต์เดือด “รับรอง รับรอง รับรอง” คนจะรีบทำงาน โซเชียลระอุ ผุดแฮชแท็ก #กกตเป็น...ไร

โดย thichaphat_d

31 พ.ค. 2565

7 views

ภายหลังจากที่ กกต. เลื่อนการรับรองผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จากเดิมวันที่ 30 พ.ค. เป็น วันที่ 31 พ.ค. ด้วยเหตุผลว่าต้องตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆให้รอบคอบเสียก่อน ทำเอาโซเชียลร้อนระอุ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ร่วมกันติดแฮชแท็ก #กกตเป็นเหี้ยไร วิพากษ์วิจารณ์ กกต.กันอย่างดุเดือด จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ อันดับ 1


 น.ต.ศิธา ทิวารี  อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ โพสต์ทวิตเตอร์ เช่นกัน โดยระบุว่า "รับรอง รับรอง รับรอง  คนจะรีบทำงาน ทำงาน ทำงาน  ประเทศเราล้าหลังมา #8ปีแล้วนะไอ้สัส #ผู้ว่ากทม#ชัชชาติ#กกต "


ขณะที่ อ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึง "การเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม" (Free and Fair Election) ในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะหมายถึงว่า การเลือกตั้งนั้นต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่มีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงแล้ว ยังหมายความรวมถึง  "ความรวดเร็วในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง" เพื่อให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งสามารถเข้าทำหน้าที่ "ผู้แทนของประชาชน" ได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดอยู่ ซึ่งหลักการนี้มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่กฎหมายการเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ เองด้วย


อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงของ อ.ชัชชาติ เพื่อโยงไปยังความผิดเกี่ยวกับการซื้อเสียงตาม ม.65 ของกฎหมายเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ตามหลักการแล้วผมเห็นว่าเป็นการตีความที่ "ไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน" (Prima Facie Unreasonableness) ที่จะไปเชื่อมโยงได้ว่ามีลักษณะเป็นการทุจริตซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ลองพิจารณาง่ายๆ เลยว่า เป็นไปได้หรือที่ประชาชนจงใจที่จะเลือก หรือเทคะแนนให้ อ.ชัชชาติ เพียงเพื่อที่ต้องการได้ป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋ารีไซเคิล อันเป็นการบิดเบือนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนตั้งแต่แรก? ฯลฯ


ดังนั้น เมื่อกรณีการร้องเรียนเพื่อกล่าวหาว่า อ.ชัชชาติ ทำการซื้อเสียงมิได้มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อนต่อการพิจารณาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ แต่กลับเห็นได้ชัดเจนง่ายดายว่าหาได้เป็นอย่างที่กล่าวหา ก็ไม่มีน้ำหนักมากพอหรือเหตุผลใดที่จะเลื่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งออกไป


อีกทั้ง หากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นแย้งกับที่ผมกล่าวมา ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะไม่สามารถตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งได้ กล่าวคือ หากมีหลักฐานอย่างชัดเจนสามารถบ่งชี้ได้ตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องว่า อ.ชัชชาติ กระทำความผิดซื้อสิทธิขายเสียงทำให้ท่านชนะเลือกตั้งโดยทุจริตจริง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาได้ และหากศาลท่านเห็นว่าเกิดการทุจริตก็จะทำการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป  


ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพึงต้องเข้าใจว่า "ความรวดเร็ว" ในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งถือ "เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม" การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ส่วนหนึ่งก็โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเร่งรัดให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศว่างเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเพื่อประชาชน กรอบระยะเวลาตรงนี้จึงไม่ได้หมายถึงว่าต้องทำให้ครบกำหนดเต็มเวลาหากไม่ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มุมหนึ่งทางกฎหมายหมายถึง การคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยในแง่ที่ว่า "ผู้แทนที่เขาเลือกนั้นจะได้เริ่มต้นเข้าไปทำหน้าที่ตามที่ได้อาสาเข้ามาทำงานแทนประชาชน"


ด้วยเหตุผลของหลักการทางรัฐธรรมนูญ การประกาศรับรองผลล่าช้าเกินความจำเป็นอย่างไม่สมเหตุสมผลจึงย่อมเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนด้วยนั่นเองครับ


ความยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมเป็นความอยุติธรรมในตัวเอง " 

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ออกมาซัดกกต.เช่นกัน โดยทวิตข้อความระบุว่า  "กกต.อยู่กับการใช้อำนาจลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบไม่เป็นเหตุเป็นผลและไม่ไดหลักสัดส่วนมานานเกินไปคือประมาณ 20 กว่าปี มาถึงกรณีผู้ว่ากทม.จึงยังปรับเปลี่ยนความเคยชินไม่ได้ ทั้งๆที่ต้องปรับแล้ว #ชัชชาติ #กกต "


" แต่ถ้ากกต.ชุดนี้ความจำไม่สั้นเกินไป น่าจะจำได้ว่าเคยให้ใบส้มผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยสาเหตุจากการกล่าวหาว่าใส่ซองถวายพระ 3,000 บาท แล้วต่อมาศาลก็ตัดสินว่าคำสั่งกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่น่าจะอยากลองอีกเรื่องนะ #ชัชชาติ #กกต "


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/5gV_Eg0AvhA

คุณอาจสนใจ

Related News