เลือกตั้งและการเมือง

‘ก้าวไกล’ ส่ง MOU ถึง 8 พรรค ดูนโยบายจัดตั้งรัฐบาล ก่อนลงนาม 22 พ.ค.นี้

โดย paweena_c

19 พ.ค. 2566

110 views

ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล หลังจากจับมือแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้วเมื่อวานนี้ ตอนนี้อยู่ในกระบวนการตกลง MOU ร่วมกัน ก่อนจะแถลงรายละเอียด MOU ในวันที่ 22 พ.ค.นี้

ซึ่งรายละเอียดของ MOU ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ร่างเสร็จแล้ว และส่งให้ พรรคร่วมทั้ง 8 พรรค รวมพรรคใหม่ เพิ่มมาวันนี้ ไปพิจารณา เพื่อมาวางกรอบในการจัดทำ MOU และจะรวมร่าง MOU กัน ในวันอาทิตย์ ที่ 21 พ.ค. นี้ ก่อนนัดแถลง และลงนามร่วมกัน ในวันที่ 22 พ.ค.

หลักๆ ใน MOU จะเป็นการนำนโยบายของแต่ละพรรค ที่เห็นตรงกันมาระบุ เพื่อจะดำเนินการทันทีเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล เช่น สุราก้าวหน้า หวยใบเสร็จ เกณฑ์ทหารด้วยระบบสมัครใจ และละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนจากการรัฐประหาร เป็นต้น แต่จะไม่มีเรื่องแก้ไข ม.112

1. จะมีการระบุวาระการทำงาน จุดยืน และหลักการ ในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน 4 ปี ข้างหน้า

2. เป็นเหมือนสัตยาบรรณ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย

3. มีรายละเอียดแนวทางการทำงาน และงบประมาณที่ใช้

4. ส่วนนโยบายที่แตกต่าง ไปหารือกันในสภา

คุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยกับทีมข่าวการเมืองช่อง 3 ของเรา ว่า MOU ที่กำลังจัดทำเป็นเหมือนสัญญาใจ ในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน ว่า 4 ปี เราจะทำอะไรบ้างหลังจากนี้ ซึ่งหากพรรคใดไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่วางไว้ การร่วมรัฐบาลต่อไป ก็เป็นไปได้ยากและต้องมาพิจารณาทบทวน ในการทำงานร่วมกัน

ส่วนที่มาตรา 112 ที่ไม่ได้อยู่ใน MOU คุณศิริกัญญา บอกว่า เป็นเรื่องที่พรรคเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ อยู่แล้ว ว่า ม.112 ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเรื่องไหนที่ไม่ได้อยู่ใน MOU พรรคก็จะขับเคลื่อนผ่าน ส.ส. ของพรรค ในสภา ต่อไป

ซึ่งในมุมของพรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่ามีบางข้อที่พรรคเพื่อไทยเห็นแย้งเยอะพอสมควรจำเป็นจะต้องมานั่งพูดคุยกัน ส่วนการ แก้ ม.112 หมอชลน่าน บอกว่า เรื่องนี้ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้

เช่นเดียวกับ อ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรค เปิดเผยเบื้องต้นว่าพรรคก้าวไกลได้ส่งตัวร่าง MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ให้พรรคร่วมได้พิจารณาแล้วในส่วนของพรรคเพื่อไทย เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นนโยบาย จึงได้มอบหมายให้ ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นผู้ดูเบื้องต้น และประสานในการจัดทำ MOU เนื่องจากนายแพทย์พรหมมินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบด้านนโยบายอยู่แล้ว

และเมื่อพิจารณาเบื้องต้นมีความเห็นว่าหากจะนำนโยบายมาใส่ใน MOU ก็ควรใส่ให้ครบทุกพรรค ส่วนตัวเห็นว่า ควรทำแค่เรื่องหลักการก่อน เช่น รับหลักการที่จะร่วมรัฐบาลด้วยกัน รับหลักการว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว จะรวมนโยบายของแต่ละพรรคมาเป็นนโยบายรัฐบาล ก่อนแถลงต่อสภา และ MOU ควรจะเป็นแค่หลักการไปก่อน ในการร่วมกันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะมัวแต่ไปยุ่งว่าจะใส่นโยบายของใคร อย่างไร เรื่องนี้ควรไปพูดคุยกันหลังจัดรัฐบาล ก่อนแถลงต่อสภาดีกว่า


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/tLKEHMMx_7w

คุณอาจสนใจ

Related News