เลือกตั้งและการเมือง

ดร.ปณิธาน ชี้ ไทย - อาเซียน ยึดมั่น “นโยบายจีนเดียว” เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล ต่างจาก “หลักการจีนเดียว” ของจีนแผ่นดินใหญ่

โดย panisa_p

4 ส.ค. 2565

83 views

จากสถานการณ์ ความตึงเครียดระหว่าง จีนแผ่นดินใหญ่ กับไต้หวัน จากกรณีการเยือน ไต้หวัน ของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ทำให้ ไทย และ อาเซียน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยแนวทางสันติวิธี และย้ำถึงการยึดมั่นใน “นโยบายจีนเดียว” จนมีการตั้งคำถามถึงความชัดเจนของ นโยบายจีนเดียวว่า มีความชัดเจนอย่างไร


เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าวการเมือง ช่อง 3  ว่าท่าทีของไทย และ อาเซียน ที่ออกแถลงการณ์ ดังกล่าว เป็นการแสดงท่าทีที่เป็นกลางตามหลักการสากล เพราะไทยเอง มีความสัมพันธ์ กับทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ และ ไต้หวัน และ นโยบายจีนเดียว ไม่ได้เป็นการยอมรับโดยตรงว่า  ไต้หวัน คือจีนเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่


แต่ นโยบายจีนเดียว (One China policy)  ที่แท้จริงนั้น เป็นการยอมรับว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในทางการทูต และได้รับการสนับสนุนจาก นานาชาติ  ให้ดำรงตำแหน่งในเวทีระหว่างประเทศ อย่างเช่น ในสหประชาชาติ และถือเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมชองคนจีน แต่การยอมรับนโยบายนี้ ไม่ได้แปลว่า นานาชาติจะตัดขาดกับ ไต้หวัน เพราะ ไต้หวัน เองก็เคยได้รับการยอมรับเป็นตัวแทนของคนจีนในสหประชาชาติมาก่อน   ทำให้ ถึงแม้ปัจจุบัน จะมีจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาแทนที่แล้ว


แต่ไต้หวัน ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้า ระหว่างกัน ซึ่งไต้หวัน ยังมีสำนักงานผู้แทนของไต้หวัน ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เพียงแต่ไต้หวัน จะไม่ได้รับการปฏิบัติในฐานะตัวแทนของประเทศตามระบบสากล เช่นการไม่มีที่นั่ง ของคณะมนตรีความมั่นคง ที่นั่งของสหภาพยุโรป และเวทีระหว่างประเทศต่างๆ




ดร.ปณิธาน  ยืนยันว่า นโยบายจีนเดียว (One China policy)  ต่างจาก “หลักการจีนเดียว” (One China principle)  ที่จีนแผ่นดินใหญ่พยายามผลักดันให้มีการยอมรับมากขึ้น โดยหลักการจีนเดียว เป็นหลักการที่ จีนแผ่นดินใหญ่ ต้องการย้ำว่า ประเทศจีน มีเพียง จีนเดียว โดยที่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่อาจแบ่งแยกได้และ ไม่ใช่เป็นเขตปกครองตนเอง หรือเขตปกครองพิเศษ ไม่ถือเป็นประเทศที่เคยได้รับการยอมรับมาก่อน 


แต่นโยบายจีนเดียว (One China policy)  ที่ยังเป็นที่รับรู้กัน ว่า ไต้หวัน มีความพยามแยกตัวออกมาเป็นอิสระ แต่ก็ไม่ได้ให้การยอมรับ กับความพยายามของไต้หวันในการแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ หรือปฏิบัติตัวกับไต้หวันในลักษณะที่ทำให้เหมือนกับไต้หวัน คือ ประเทศ  โดยเฉพาะการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของประเทศต่างๆ  ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน  ประเด็นนี้จึงเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้น


“การยึดถือนโยบายจีนเดียวในสหประชาชาติเป็นการดำเนินการตามหลักปฏิบัติ แต่ในการปฏิบัติจริง นานาชาติก็ยังให้ความสำคัญกับไต้หวัน เพียงแต่ไม่ได้ถือเป็นประเทศที่มีอธิปไตย เหมือนกับประเทศปกติ ” ดร.ปณิธาน กล่าว


ดร.ปณิธาน ยังมองว่าปัญหาสำคัญของความพยายามแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน เป็นเพราะการไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ในประชาคมโลก ในฐานะประเทศๆหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ทำให้สหรัฐอเมริกา พยายามเข้ามาช่วยเหลือเพราะไม่อยากให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยว เพราะไต้หวันเองก็มีการพัฒนาประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยใช้หลักกติกาสากลแบบเสรีนิยม มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ประชาชนพอใจในระบบการเมืองการปกครอง แต่กลับไม่ได้รับการรับรองความสำเร็จจากนานาชาติ ว่าเป็นรัฐที่มีอธิปไตย ตามกติกาสากล เพราะถูกจีนแผ่นดินใหญ่คัดค้าน  


คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

คุณอาจสนใจ