เลือกตั้งและการเมือง

เปิดวิสัยทัศน์ 'แคนดิเดต' ประธานสภาฯ จาก 'ก้าวไกล'

โดย paweena_c

28 มิ.ย. 2566

131 views

เปิดวิสัยทัศน์ 'ปดิพัทธ์ สันติภาดา' แคนดิเดตประธานสภาฯ  จาก 'ก้าวไกล'

'ปดิพัทธ์' โชว์วิสัยทัศน์  หลัง 'ก้าวไกล' ส่งชิง 'ประธานสภาฯ' ย้ำให้โอกาสทีมเจรจาทำงาน ย้ำสภาต้องไม่อยู่ใต้อาณัติฝ่ายบริหาร เตรียมวางแผนห้องประชุม กมธ. ใหม่ แก้ปัญหา ส.ส.​ร่วมประชุมสภาฯไม่ทัน ยืนยันทำหน้าที่เป็นกลาง ชูนโยบายสภาโปร่งใส ตรวจสอบขั้นตอนกฎหมายได้

เมื่อ วันที่  28 มิ.ย. ​รายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ ได้สัมภาษณ์นายปดิพัทธ์ สันติภาดา แคนดิเดตประธานสภา จากพรรคก้าวไกล โดยนายปดิพัทธ์กล่าวถึงกรณีการตกลงตำแหน่งประธานสภาระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยว่าขอให้โอกาสทีมงานของพรรคร่วม เจรจาอีก 5 วันก่อนจะโหวตเลือก ซึ่งหากพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยเจรจากันลงตัว พรรคอื่นที่น่าจะไม่มีมติอื่นก็คงจะลงตัวเช่นกัน

นายปดิพัทธ์เผยว่าหลังจากทำงานในสภาปีแรก เห็นว่าถ้ากระบวนการนิติบัญญัติมีประสิทธิภาพกว่านี้น่าจะดี พรรคก้าวไกลจึงแบ่งทีมทำงานเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เดินหน้าเจรจาและกลุ่มที่เตรียมงานสภา ซึ่งตั้งแต่จบการเลือกตั้งได้มีการเลือกคนที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังนั้นถ้าพรรคก้าวไกลได้เสียงอันดับ 1 พรรคจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและควรจะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าการเจรจาของพรรคร่วมเป็นอย่างไร

จึงเดินหน้าเตรียมทั้ง 2 กลุ่มต่อ ก่อนหน้านี้ไม่ได้แจ้งว่าใครจะรับตำแหน่งอะไร เนื่องจากรอพรรคร่วมเจรจาให้เสร็จก่อน

สืบเนื่องที่พรรคก้าวไกลถูกวิจารณ์ว่าอยากได้ตำแหน่งประธานสภาเพราะอยากผลักดันกฎหมายของพรรค แต่ตำแหน่งประธานสภาจะต้องเป็นกลาง จะผลักดันกฎหมายให้พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ นายปดิพัทธ์ชี้แจงว่า ทราบเรื่องที่ประธานสภาต้องเป็นกลาง และเป็นประธานรัฐสภาด้วย ถ้าได้เป็นประธานสภาจริง ๆ จะให้ช่องทางการเสนอกฎหมายทุกอย่างที่มาจากทุกพรรค ภาคประชาชน คณะรัฐมนตรี ได้รับการเสนอเข้าไปอย่างเท่าเทียมกันและมีประสิทธิภาพ เพราะในสมัยก่อน ๆ ส.ส. ทำเพียงยกมือโหวตตามกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาเท่านั้น ไม่ค่อยเริ่มเสนอกฎหมายเอง

พรรคก้าวไกลจึงประกาศไว้ว่า “สภานิติบัญญัติต้องไม่อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล ไม่งั้นเราจะมี 3 อำนาจอธิปไตยไปทำไม” เพราะก่อนหน้านี้มีกฎหมายที่ถูกเสนอจาก ส.ส. 20 คนและประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ลงชื่อมากว่าหมื่นคน แต่กฎหมายไม่ถูกนำมาใช้จริงมากนักเพราะสภานิติบัญญัติถกเถียงแต่กฎหมายรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

เมื่อ 3 อำนาจอธิปไตยที่ประกอบด้วยบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต้องถ่วงดุลกัน คุณปดิพัทธ์จะต้องลาออกจากกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มาทำงานในรัฐสภา เพื่อไม่ให้เกิดอคติต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง

สำหรับกฎหมายงบประมาณ ปดิพัทธ์แจ้งว่าต้องถูกนำเสนอโดยรัฐบาลใหม่

ในส่วนของกระทู้ของรัฐบาลที่ผ่านมาที่มีคนไม่มาตอบ นายปดิพัทธ์กล่าวว่าการที่หลีกหนีการตรวจสอบจากนิติบัญญัติเป็นการแสดงความไม่น่าไว้วางใจให้ประชาชนดู ถ้าไม่มา กระทู้ต้องเขียนบอกให้ชัดเจนว่าทำไมไม่มาและจะมาวันไหน ถ้าไม่ได้บอก แปลว่ากำลังหลีกหนีการตรวจสอบ ไม่มีความรับผิดชอบ ที่ผ่านมาข้อมูลของการมาหรือไม่มาประชุม และกระทู้ในสภาถูกบันทึกไว้ และวางแผนที่จะเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้แบบเรียลไทม์และคอมเมนต์ได้ด้วย เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับความคิดทางประชาธิปไตยซึ่งก็คือการแสดงความเห็นที่สุภาพและเป็นข้อเท็จจริง จะทำการกรองไอโอและคอมเมนต์ทางลบออกไป

ส่วนในกรณีที่ มี ส.ส.​ระบุว่ามาสภาแต่ประชุมกรรมาธิการแล้ววิ่งมาประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไม่ทัน นายปดิพัทธ์แจ้งว่าอาคารสภาใหญ่มาก ประกอบกับห้องประชุมที่มีเยอะมากและตั้งห่างกัน ทำให้มีแผนที่จะออกแบบตำแหน่งของห้องประชุมใหม่ จัดระบบให้การประชุมกรรมาธิการไม่ซ้อนกับการประชุมสภา และให้การประชุมอยู่ในบริเวณเดียวกัน ถ้าหากมีการประชุมซ้อน จะรอกี่นาทีถึงจะลงมติหรือปิดประชุม ในส่วนของเวลาการเดินทาง จะเอาสมาชิกผู้พิการและอายุเยอะมาเดินเพื่อหาค่าระยะเวลาเฉลี่ยในการเดินทางไปตามห้องประชุม ระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ทุกคนทำงานหลายอย่างได้โดยไม่เสียการประชุม

ปดิพัทธ์ระบุว่าสิ่งที่จะทำให้สภาแตกต่างจากที่ผ่านมาได้แก่ประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในด้านประสิทธิภาพ ต้องมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการประชุม เอาสถิติเก่ามาเทียบว่าประสิทธิภาพดีขึ้นมั้ย ดูว่าไทยเราขาดอะไร ต้องการอะไรเพิ่ม เพื่อตอนที่ไปดูงาน จะได้ทราบว่าควรดูเรื่องอะไร ควรวางแผนการดูงานแบบไหน เพื่อที่ภาษีประชาชนจะได้ใช้อย่างคุ้มค่า

ในด้านความโปร่งใส ประชาชนจะติดตามกระบวนการนิติบัญญัติได้ดีขึ้น จะสามารถติดตาม แทรคกิ้งได้ว่าสถานะของกฎหมายอันนั้นอันนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการไหน

ด้านความสัมพันธ์กับรัฐบาลรักษาการณ์นั้น ปดิพัทธ์แจ้งว่าตอนนี้ทำงานร่วมกับรัฐบาลรักษาการพร้อมอธิบายว่า สภาเกิดทันทีเมื่อมีพิธีเข้าปฏิญาณตนเป็น ส.ส. เลือกประธานและรองประธาน แต่ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ สภาใหม่จะไม่เกิด รัฐบาลรักษาการปัจจุบันก็ยังเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร

สำหรับการทำหน้าที่ประธานสภา ปดิพัทธ์กล่าวว่าประธานไม่ควรใช้ดุลพินิจตัดสินกฎหมายว่าอันไหนควรหรือไม่ควรเข้า เพราะกฎหมายผ่านกระบวนการที่ถูกต้องมาแล้ว ผ่านสมาชิกรับรองแล้ว ผ่านการตรวจของฝ่ายกฎหมายแล้ว ประธานมีหน้าที่บรรจุเท่านั้น หากประธานมีวินิจฉัย สมาชิกสามารถโต้แย้งได้ หรือถ้ามีสมาชิกอยากให้ลงมติว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็สามารถลงมติสภาได้


คุณอาจสนใจ

Related News